นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปีนี้ ปณท เตรียมลงทุนไม่น้อยกว่า 3,000  ล้านบาท ทั้งในส่วนของระบบไอที โซลูชั่นการบริหารจัดการ และให้บริการ และรถขนส่ง โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการขนส่ง ด้วยการยกระดับการให้บริการให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอีคอมเมิร์ซ หลังคนไทยหันมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจมุ่งสู่ ตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตลาดอีคอมเมิรซ์เติบโต ความต้องการด้านขนส่งพัสดุก็เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการนำเทคโนโลยี และโซลูชั่นต่างๆ มาพัฒนาบริการใหม่ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อให้แข่งขันกับเอกชนได้

“ตลาดขนส่งพัสดุในปี 64 มีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีการแข่งขันรุนแรง มีการใช้กลยุทธ์ราคา ซึ่ง ปณท มีส่วนแบ่งการตลาดในด้านรายได้ประมาณ 57% ซึ่งปีนี้ก็ยังแข่งรุนแรงต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ไว้ว่าระหว่างปี 65-67 ตลาดขนส่งด่วนจะมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยที่ 11.23% ต่อปี ซึ่ง ปณท จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความคุ้นเคยในทุกพื้นที่ของพนักงานมาต่อยอด พัฒนาสินค้า บริการที่จะตอบโจทย์ ความต้องการของลูกค้า โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้าเป็นเซกเมนต์ย่อยมากขึ้น รวมถึงการจับมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ มากยิ่งขึ้น พร้อมชูแคมเปญ “อีเอ็มเอส ทุกวัน” บริการส่งด่วน รับ-ส่งง่าย ตรงต่อเวลา เข้าถึงทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมอัดโปรโมชั่น อย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ให้ได้ส่งสิ่งของแบบด่วนในราคาพิเศษ”

นายดนันท์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีจุดรับฝากส่งพัสดุมากกว่า 10,000 จุดในปีนี้ จะขยายเพิ่มในแบบแบบแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น เน้นคุณภาพและราคามาตรฐานเดียวกับที่ทำการ ปณ ส่วนบริการฟิ้วซ์ โพสต์ ขนส่งแบบเย็นที่รวมกับเอกชนจะจัดตั้ง บริษัทร่วมทุนเสร็จในไตรมาส 1 และจะขยายพื้นที่บริการให้ครบคลุมทั่วประเทศในสิ้นปีนี้สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 30% จึงได้มีการปรับการขนส่งเส้นทางวิ่ง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการนำ รถไฟฟ้า (อีวี) มาวิ่งขนส่งในบางเส้นทาง ทำให้ช่วยลดผลกระทบเรื่องน้ำมันแพงและช่วยด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยปีนี้ จะนำรถไฟฟ้าเข้ามาใช้งานทั้งหมด 250 คัน อย่างไรก็ตามสำหรับรายได้ในปี 64 เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท