เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 ก.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน สภาผู้แทนราษฎร ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2563 ที่มีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานคณะอนุ กมธ. เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณางบประมาณของกรมควบคุมโรค โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ. โดยมีรายงานว่า ระหว่างการประชุมตอนหนึ่ง นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะอนุ กมธ.ซีกฝ่ายค้าน ได้สอบถาม นพ.โอภาส ว่าเหตุใดกรมควบคุมโรคถึงจัดซื้อแต่วัคซีนซิโนแวค พร้อมทั้งขอให้เปิดเผยเอกสารสัญญาการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา

โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า จากหนังสือคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดให้นำงบประมาณ 6.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเยียวยาไปจัดหาวัคซีนโดยเห็นควรให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการในการพิจารณาจัดหาวัคซีน หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วย ว่า ขณะนี้โควิด-19 กลายพันธุ์แล้ว ดังนั้นให้หาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่นที่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ได้ หรือแปลว่าไม่ให้ใช้ซิโนแวคแต่ให้ใช้ยี่ห้ออื่น แต่ในการชี้แจงก่อนหน้านี้อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ได้สอบถามไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ความว่ามีแต่ซิโนแวคอย่างอื่นไม่มี ตนอยากถามว่าทำไมราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มได้ หรือแม้แต่เอกชนก็ยังหาวัคซีนยี่ห้ออื่นได้

“คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ซื้อซิโนแวค แต่กำหนดว่าให้จัดหายี่ห้ออื่นที่สามารถป้องกันการกลายพันธุ์ควบคู่ไปด้วย อีกเรื่องที่เป็นปัญหา ไม่รู้อะไรนักหนา คือ สัญญาการจัดซื้อแอสตราเซเนกา ตั้งแต่ในห้องประชุมใหญ่ของคณะ กมธ.งบประมาณฯ จนถึงวันนี้ผ่านไป 5 วัน ก็ยังลับอยู่ ดังนั้นอธิบดีต้องเอามาให้ผม แอสตราเซเนกาจัดซื้อได้เท่าไหร่ต้องเปิดเผย” นายยุทธพงศ์ ถามย้ำ

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า จากเอกสารของสภาพัฒน์ ชัดเจนว่าให้จัดหาวัคซีนควบคู่กัน จำนวน 10.9 ล้านโด๊ส กรมควบคุมโรค ได้จัดหาและการเจรจาแล้ว ซึ่งวันนี้ได้ลงนามกับไฟเซอร์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือแจ้งสภาพัฒน์ เพื่อนำเงินกู้จำนวนดังกล่าวมาใช้ต่อไป ย้ำว่าควบคู่ไม่ได้แปลว่าไม่ให้ซื้อ ซึ่งการหาวัคซีนระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. มีความสำคัญมาก เพื่อจะได้ฉีดให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว เวลากรมควบคุมโรคจัดหาวัคซีนจะจัดหาจากผู้ผลิตและตัวแทนต่างๆ ซึ่งในประเทศไทย คือ อภ. ทางกรมควบคุมโรค ได้มีหนังสือสอบถามเไปว่ามีวัคซีนอะไรให้กับกรมควบคุมโรคบ้าง ซึ่งทาง อภ. แจ้งกลับมาว่ามีวัคซีนซิโนแวคให้

ต่อมา เวลา 11.55 น. นายยุทธพงศ์ แถลงว่า ที่ผ่านมาการฉีดวัคซันคือวาระแห่งชาติ รัฐบาลบอกว่าจะฉีดวันละ 5 แสนโด๊ส แต่ปรากฏทุกวันนี้ยังไม่เคยมีวันใดที่ประชาชนชี้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ซึ่งที่ประชุมคณะ กมธ.งบประมาณฯ ได้ซักถามว่าตกลงได้จัดซื้อวัคซีนจำนวนและราคาเท่าใด แต่ไม่ได้รับคำตอบ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มาชี้แจงต่อ กมธ.งบประมาณฯ ได้แต่ชี้แจงในภาพรวม เมื่อถามหาสัญญาในการซื้อขาย ปลัด สธ. กลับโยนไปให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จนกระทั่งเมื่อเช้าวันนี้ที่ประชุมคณะ กมธ.งบประมาณฯ ได้ทวงถามเอกสารจากนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองประธาน กมธ.งบประมาณฯ ซึ่งนายวิเชียร ไม่ยอมให้ โดยอ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวอยู่ในชั้นความลับ ขณะเดียวกัน วันนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคก็มาชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ. อยากถามว่าทำไมจึงจัดซื้อแต่ซิโนแวค ทั้งที่เชื้อกลายพันธุ์ไปแล้ว ทางสำนักงบฯ บอกว่าให้หายี่ห้ออื่น ทำไมไม่หา

“ผมอยากได้หนังสือการสั่งซื้อแอสตราเซเนกาว่า มีจำนวนเท่าไหร่ ไม่ควรจะเป็นข้อมูลในชั้นความลับ เพราะเห็นว่าถ้า กมธ.ไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณของแผ่นดินก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ถ้าปล่อยให้ นพ.โอภาส บริหารอย่างนี้ คนจะติดโรคและตายเป็นพันคนต่อวัน ดังนั้นผมจะรอสัญญาการจัดซื้อ แม้จะเลยเคอร์ฟิวก็จะรอ” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมควบคุมโรค หากจะให้บริหารต่อไปเช่นนี้ไม่ได้ งบประมาณ 6.1 พันล้านบาท ไม่ใช่จำนวนน้อย และเป็นเงินกู้ด้วย คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ กำหนดให้จัดซื้อวัคซีนที่ป้องก้นไวรัสกลายพันธุ์ แต่ก็ยังคงซื้อวัคซีนซิโนแวค ซื้อมาก็เป็นปัญหาว่าจะนำไปทิ้งที่ใด เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นไม่ยอมฉีดซิโนแวค นี่คือใบเสร็จที่ยืนยันว่าทำไมถึงมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน อย่างนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคต้องรับผิดชอบ.