นี่เป็นการเปิดเผยในรายงานของ สภาพยาบาลระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอ็น (International Council of Nurses : ICN) จากสำนักงานใหญ่ในเมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ องค์กรตัวแทนพยาบาลวิชาชีพกว่า 27 ล้านคน และหน่วยงานพยาบาลระดับชาติ 130 แห่งทั่วโลก

ฮาวเวิร์ด แคตตัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของ ไอซีเอ็น บอกว่า ความเจ็บป่วยจนต้องลางาน ความเหนื่อยล้า และการลาออกของบุคลากร ท่ามกลางการระบาดหนักของโอมิครอน ทำให้อัตราขาดพยาบาล สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19

กลุ่มชาติตะวันตกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการจ้างพยาบาลจากกองทัพ รวมทั้งอาสาสมัคร และพยาบาลวิชาชีพที่เกษียณไปแล้ว ขณะเดียวกันหลายประเทศได้เริ่มประกาศรับสมัคร พยาบาลวิชาชีพจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ที่กำลังนำเข้าพยาาบาลระหว่างประเทศ อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา และสหรัฐ

แคนาดาเป็นอีกประเทศร่ำรวย ที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนพยาบาล จากที่เคยภูมิใจในระบบสาธารณสุขชั้นแถวหน้าของประเทศ ซึ่งฝ่ายวิจารณ์บอกว่า รัฐบาลชะล่าใจ ไม่มีแผนรับมือโรคอุบัติใหม่ร้ายแรง และไม่ลงทุนทางด้านสาธารณสุขเพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติแคนาดา อัตราว่างงานในภาคสาธารณสุข และการช่วยเหลือสังคม ของประเทศ สูงขึ้น 78.8% ระหว่างไตรมาส 3 ปี 2562 ถึงไตรมาส 3 ปี 2564

รัฐบาลรัฐออนแทรีโอ ซึ่งถูกโจมตีหนัก จากการจำกัดเพดานเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงพยาบาล ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 เผยว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาด รัฐได้เพิ่มบุคลากรด้านสาธารณสุขประมาณ 6,700 ตำแหน่ง และมีแผนจะเพิ่มอีก 6,000 คน ภายในเดือน มี.ค.ที่จะถึง

แคตตัน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้า ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เหมือนที่เราเคยเห็นการกวาดซื้อกักตุน วัคซีนและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี) โดยใช้ความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจ จะทำให้ภาวะความเหลื่อมล้ำ ทางด้านสาธารณสุขโลก ติดลบลงอีก

จากข้อมูลของไอซีเอ็น ปัจจุบัน ทั่วโลกขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ ประมาณ 6 ล้านคน เกือบ 90% ในจำนวนดังกล่าว อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลาง

พยาบาลที่ถูกดึงตัวสู่ประเทศร่ำรวย ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่ไปจากแอฟริกา รวมถึงไนจีเรีย กลุ่มประเทศหมู่เกาะในแคริบเบียน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระบวนการดึงตัวพยาบาลจากบรรดาประเทศยากจน หลายประเทศตะวันตกสร้างแรงจูงใจ ที่ยากจะปฏิเสธ โดยนอกจากเงินเดือนและค่าตอบแทนต่าง ๆ สูงกว่ามาก ยังเสนอให้ทุนศึกษาต่อ และสถานะผู้อพยพ จนถึงโอนสัญชาติให้ในบั้นปลาย

แคตตันเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งร่ำรวยและยากจน จัดงบประมาณลงทุนมากขึ้น ทางด้านสาธารณสุข กำหนดแผนระยะยาว 10 ปี เน้นทางด้านเพิ่มบุคลากรการแพทย์และพยาบาล การวิจัยและพัฒนายา และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรักษาโรค

เพราะการอุบัติของโควิด-19 ซึ่งสร้างความสูญเสีย และเสียหายอย่างมหาศาลทั่วโลก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ปรากฏการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นอีก.

 เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES