เกาหลีเหนือเปิดศักราชใหม่ ปี 2565 ด้วยการทดสอบขีปนาวุธ 7 ครั้ง เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นเป็นการยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง ( ไออาร์บีเอ็ม ) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2560 หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลเปียงยางกำลัง “ใช้ตำราเดิม” นั่นคือ การระดมยิงขีปนาวุธ เพื่อยกระดับกดดันคู่กรณีรายสำคัญ นั่นคือสหรัฐ ให้ยอมรับเงื่อนไขที่เกาหลีเหนือเรียกร้อง ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ แม้จะได้บ้างไม่ได้บ้าง

แต่อย่างน้อยที่สุด ทุกครั้งที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ สหรัฐต้องมีปฏิกิริยาตอบสนอง เพราะอาวุธที่เกาหลีเหนือยิงออกไปนั้น “เป็นของจริง” แม้รัฐบาลวอชิงตันจะยังคงมองว่า “เป็นการเรียกร้องความสนใจ” เพราะท่าทีจากรัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้า คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะในขณะที่ทรัมป์แสดงท่าทีแบบ “ไฟบรรลัยกัลป์” ทุกครั้งที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ แต่ไบเดนกลับมีปฏิกิริยา “เฉื่อยชา”

นายคิม จอง-อึน เยี่ยมชมโรงงานผลิตกระสุนปืนแห่งหนึ่ง ในเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

นั่นเป็นเพราะข้อเรียกร้องและการต่อรองระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีกนาน เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับบุคคลอีกหลายกลุ่ม ขณะที่ตลอดเดือนก.พ.นี้ รัฐบาลเปียงยางน่าจะระงับการยิงขีปนาวุธ นัยว่าเพื่อให้เกียรติและแสดงความเคารพต่อจีน ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาว ทว่ารัฐบาลเปียงยางไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ได้ เนื่องจากติดโทษแบนของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ( ไอโอซี ) จากการปฏิเสธเข้าร่วมโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ เมื่อปีที่แล้ว “โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร”

ปัจจัยที่น่าจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวทางทหารของเกาหลีเหนือมากที่สุด ต้องเป็นเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมือง นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 9 มี.ค. นี้ ที่จะเป็นการเฟ้นหาผู้นำคนใหม่แทนประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ซึ่งไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อยู่ในวาระได้เพียงสมัยเดียว และนานสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มุนดำเนินนโยบายต่อเกาหลีเหนือในแบบค่อนข้างประนีประนอม จนมีหลายครั้งที่มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า “มากเกินไป” อย่างไรก็ตาม ว่าที่ผู้นำเกาหลีใต้คนต่อไปไม่ว่าจะเป็นใคร แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า จะมีนโยบายเรื่องเกาหลีเหนือที่เป็น “สายเหยี่ยว” มากกว่าผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งเป็น “สายนกพิราบ”

ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 4 คน โดยมีตัวเก็ง 2 คน คือนายยุน ซ็อก-ยอล อดีตอัยการสูงสุดยอด แและนายอี แจ-มยอง นักการเมืองและนักกฎหมายอาวุโส ทั้งสองคนเสนอนนโยบายเรื่องเกาหลีเหนือที่แข็งกร้าว โดยเฉพาะยุน ซึ่งถึงขั้นมีแนวคิดว่า เกาหลีใต้อาจเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีทางทหารต่อเกาหลีเหนือก่อน “เพื่อป้องปรามภัยคุกคาม”

ตลอดระยะเวลาอยู่ในวาระ มุนพบหารืออย่างเป็นทางการกับนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการสองครั้ง เมื่อปี 2561 โดยมุนเชิญให้ผู้นำหนุ่มของเกาหลีเหนือสร้างประวัติศาสตร์เยือนเกาหลีใต้ได้ แม้เป็นการเดินข้ามเส้นแบ่งแขตแดนที่หมู่บ้านปันมุนจอม ยังไม่ใช่การเยือนกรุงโซลอย่างเป็นทางการก็ตาม ด้านมุนซึ่งมีประวัติครอบครัว “ผูกพัน” กับประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนที่เกาหลีจะแบ่งออกเป็นสองประเทศ เยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการด้วย

นายคิม จอง-อึน นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกลางพรรคคนงาน ที่กรุงเปียงยาง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565

ในทางตรงกันข้าม เป็นไปได้น้อยมาก ที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้จะมีความคิดแบบนั้น โดยรัฐบาลโซลในอนาคตอาจถึงขั้น “ไม่ยอมรับ” การมีอยู่ของ “เกาหลีที่อยู่ทางเหนือ” ซึ่งแน่นอนว่า ตระกูลคิมต้องยิ่งไม่พอใจกับบรรยากาศดังกล่าว และยิ่งต้องมองว่า เป็นสัญญาณของการแสดงตัวเป็นปรปักษ์ ยิ่งกว่าในยุคที่เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ

การทดสอบไออาร์บีเอ็มของเกาหลีเหนือ “ดึงความสนใจครั้งสุดท้าย” จากรัฐบาลของมุนได้ในที่สุด จากการที่ผู้นำของเกาหลีใต้ออกมาเตือนอย่างตรงไปตรงมา ว่ารัฐบาลเปียงยางกำลังจะละเมิดพันธสัญญา ว่าด้วยการไม่ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป ( ไอซีบีเอ็ม ) ที่ประกาศเมื่อปลายปี 2560

การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่จัดแบบ “ชุดใหญ่” ตั้งแต่ต้นปี 2565 อาจทำให้ประตูสู่การพบหารือกับรัฐบาลไบเดนเปิดกว้างมากขึ้น และรัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้อาจต้องปรับกลยุทธ์เรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย แต่การที่สหรัฐยังคงยืนกรานว่า “ขึ้นอยู่กับคิม” แล้วกว่าจะถึงวันนั้น ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าเมื่อไหร่ และผู้นำหนุ่มของเกาหลีเหนือจะสั่งให้มีการยิงขีปนาวุธแบบใดอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า คิมเป็นคนที่ “คำไหนคำนั้น” กับเรื่องแบบนี้ เมื่อบอกว่า จะกลับมาทดสอบอาวุธแบบใด อีกไม่นานจะปรากฏข่าวว่า เกาหลีเหนือทำแบบนั้นจริง และเมื่อไม่นานมานี้ คิมส่งสัญญาณว่า จะกลับมาทดสอบไอซีบีเอ็ม ซึ่งทุกฝ่ายทำได้เพียง “รอ” ว่าเมื่อใด ส่วนเกาหลีเหนือเองก็ตั้งความหวังว่า การตอบสนองของทุกฝ่าย “คงมากกว่านี้”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS