เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร รับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 ก.ค. 64 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 10/2564 ลงวันที่ 17 ก.ค. 64 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 53 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 10 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 1 จังหวัด โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย กล่าวว่า พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ได้ทราบว่า มาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชน และชะลออัตราการระบาดที่รุนแรงของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.64 ข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 26 มิ.ย. 64 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 ก.ค. 64 ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดฉบับล่าสุด

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด หารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ ได้แก่ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวางระบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ Antigen Test Kit (ATK) ควบคู่กับการเร่งดำเนินการในการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR เพื่อลดการแออัดในการขอตรวจกับจุดตรวจต่างๆ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายและขั้นตอนการดำเนินการให้ชัดเจน หากผลยืนยันเป็นบวกและไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ให้เข้าสู่กระบวนการแยกกักตัวที่บ้าน หรือการแยกกักตัวในชุมชน

นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า รวมไปถึงให้เตรียมพร้อมการจัดสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ ตามศักยภาพของพื้นที่ ได้แก่ 1.ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน 2.การแยกกักตัวในชุมชน 3.โรงพยาบาลสนาม 4.Hospitel และ 5.ICU สนาม โดยประสานการปฏิบัติ กำหนดมาตรการกำกับดูแล และการเบิกจ่ายงบประมาณ กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่ง ให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ ศบค.มท. ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน.