ที่ตัดสินใจเปิดยิม ผมไม่ได้มองกำไรเป็นตัวเลขหรือเป็นตัวเงิน แต่แค่อยากช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่า“ เป็นเสียงจาก “ชายวัย 68 ปี” เจ้าของฉายา “ลุงสตรองยิม” ที่ลูกศิษย์ลูกหามอบให้ บอกเราถึงจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งสถานออกกำลังกาย โดยนอกจากจะเป็นเจ้าของยิมแล้ว คุณลุงท่านนี้ยังควบตำแหน่ง “เทรนเนอร์-ผู้ฝึกสอน” อีกตำแหน่งด้วย ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเจ้าของฉายา “ลุงสตรองยิม”คนนี้…

“ทวีศักดิ์ ยศสมศรี” คือชื่อ-นามสกุลของคุณลุงเจ้าของฉายา “ลุงสตรองยิม” โดยเขาได้เล่าประวัติให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เกิดและโตที่คุ้งบางกะเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ของคุณลุงนั้นมีอาชีพทำสวน โดยคุณลุงเป็นลูกชายคนโตจึงต้องรับหน้าที่เป็นกำลังหลักของบ้านในการช่วยคุณพ่อคุณแม่ทั้งงานบ้านและงานในสวน

“ผมต้องทำสวนมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงต้องรับหน้าที่ปีนต้นมะพร้าวขึ้นไปเอาน้ำตาลมะพร้าวลงมาเคี่ยวทำน้ำตาลขายด้วย  ชีวิตวัยเด็กของผมจึงมีกิจวัตรคือ ต้องตื่นแต่เช้าเข้าสวนไปช่วยทำงาน เมื่อเสร็จงานแล้วจึงจะกลับมาแต่งตัวกินข้าวเพื่อออกไปโรงเรียน ซึ่งก็ส่งผลทำให้ผมมีร่างกายแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เอาเข้าจริงพอไปโรงเรียน ผมกลับเป็นลูกไล่ของพวกเด็กเกเร เพราะถูกแกล้ง ถูกรังแกอยู่เป็นประจำ ด้วยความที่ผมหน้าตี๋ ตัวเล็ก ก็มักจะถูกแกล้ง ถูกไถขนม ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นแรงกดดันที่ทับใจเรามาตั้งแต่เด็ก ที่ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้เลย พอโตมาก็เลยอยากเล่นกล้าม อยากมีกล้ามใหญ่ ๆ เพราะหวังว่าจะช่วยให้คนที่คิดจะมารังแก จะได้ไม่กล้าแกล้งเรา

คุณลุงทวีศักดิ์เล่าถึงชีวิตวัยเด็ก ซึ่งมีจุดที่เป็นแรงผลักดันจนทำให้คุณลุงนั้นอยากที่จะ “เล่นกล้าม” เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกคนรังแก พร้อมกับได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า วันหนึ่งเผอิญเห็นคนแถวบ้านออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ยกน้ำหนักที่ทำขึ้นเอง โดยนำถังสีมาเทปูนซีเมนต์ลงไป จากนั้นนำไม้ไผ่มาดัดแปลงเป็นคานสำหรับยก ซึ่งคน ๆ นั้นหุ่นดีและมีกล้ามใหญ่มาก ยิ่งทำให้คุณลุงอยากจะเล่นกล้ามบ้าง จึงไปขอให้เขาสอนให้ ซึ่งคุณลุงก็ได้เล่นกล้ามมาตลอด จนช่วงที่ขึ้น ป.4 ได้ไปเห็นนักมวยที่มาวิ่งออกกำลังกายทุก ๆ เช้า ก็ทำให้มีความคิดเพิ่มขึ้นมาในหัวว่า ถ้าได้เรียนชกมวยไว้ป้องกันตัว พวกเด็กเกเรที่โรงเรียนคงไม่กล้าแกล้งอีก จึงไปถามนักมวยคนนั้นว่าช่วยสอนมวยให้หน่อยได้ไหม? ซึ่งนักมวยคนนั้นก็แนะนำให้คุณลุงไปที่ค่ายมวยแถวย่านคลองเตยใน

“ตอนนั้นไปถามนักมวยคนนั้นตรง ๆ เลยว่าพี่สอนมวยให้ผมได้ไหม เขาก็แนะนำให้ไปเรียนที่ค่ายมวย ผมก็ไป จำได้ว่าวันนั้นถือดอกไม้ธูปเทียน พร้อมกับนำเงิน 16 บาทไปจ่ายเพื่อเป็นค่าครู ซึ่งยุคนั้นเงิน 16 บาทสำหรับเด็กอย่างผมถือว่าเป็นเงินที่เยอะมาก เพราะสมัยนั้นได้เงินไปโรงเรียนแค่วันละ 1 บาท แต่ด้วยความที่อยากเรียนมวย ก็พยายามเก็บเงินวันละ 25 สตางค์ ก็ใช้เวลาเก็บอยู่หลายเดือนกว่าจะครบ จนได้ไปเรียนมวยสมกับที่ตั้งใจไว้” คุณลุงบอก

พร้อมเล่าอีกว่า แม้จะได้เข้าค่ายมวยแล้ว แต่กว่าจะได้เรียนมวยจริง ๆ ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยคุณลุงเล่าว่า ก่อนจะได้เริ่มต้นเรียน ครูมวยก็จะทดสอบความตั้งใจของเราเสียก่อนว่า อยากจะเรียนมวยจริง ๆ ไหม ทำให้ช่วงแรกจึงได้แค่วิ่ง กระโดดเชือก ซิทอัพ นอกจากนั้น ก็ยังต้องไปช่วยหิ้วถังน้ำ กวาดลานมวย และจับเวลาให้กับนักมวยรุ่นพี่ ตลอดจนคอยวิ่งซื้อของให้กับนักมวยรุ่นพี่ในค่าย โดยต้องทำแบบนี้อยู่นานมาก จนในที่สุดก็ได้เรียนชกมวยแบบจริงจัง

“จริง ๆ ที่บ้านไม่ได้สนับสนุนให้เรียนมวยเลย แต่เราแอบไปโดยไม่บอก ซึ่งจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปซ้อม กว่าจะซ้อมเสร็จก็ดึก พอกลับมาบ้านก็ต้องโกหกไปว่า ทำเวรหรือทำการบ้านที่โรงเรียน แต่ก็โดนคุณพ่อตี เพราะกลับมืดบ่อย จนหลวงพี่ที่รู้จักเห็นก็สงสาร จึงช่วยมาพูดคุยกับที่บ้านให้ว่า ให้เราไปเรียนมวยเถอะ โดยบอกว่าคิดเสียว่าเป็นการออกกำลังกาย จนที่สุดที่บ้านก็ยอม แต่มีสัญญากันว่า ไปซ้อมมวยได้ แต่งานที่บ้านก็ต้องไม่เสียเป็นอุปสรรคการเรียนมวยที่มีการเล่าไว้ และคุณลุงยังบอกว่า ฝึกซ้อมอยู่เป็นปีก็ยังไม่ได้ขึ้นชกบนเวทีจริง ๆ สักครั้งจนมีงานประจำปีที่พระสมุทรเจดีย์ คุณลุงกับเพื่อนจึงแอบไปสมัครขึ้นเวทีชกมวยกันเอง โดยปิดบังไม่ให้ครูมวยรู้ ซึ่งการขึ้นเวทีชกมวยครั้งแรกนั้น ปรากฏแพ้น็อกตั้งแต่ยกแรกเลย (หัวเราะ) เพราะตื่นเวที ซึ่งพอกลับมาครูมวยเห็นสภาพเข้า ก็เลยรู้ จึงโดนทำโทษที่แอบไปขึ้นชกเอง

“จริง ๆ ครูเขาเป็นห่วงเรามากกว่า เพราะเรายังไม่แข็งพอที่จะขึ้นชก จึงเป็นเหตุผลที่ยังไม่ปล่อยให้ขึ้นชก เพราะกลัวเราจะเจ็บตัวหนัก แต่ตอนนั้น แม้การชกครั้งแรกจะแพ้ไม่เป็นท่า เราก็เริ่มติดใจแล้ว เพราะขึ้นชกแล้วได้เงินค่าชกมา 30 บาท ซึ่งพอหายดี ผมก็แอบไปหาที่ชกอีก แล้วก็แพ้อีก จนครูมวยเริ่มให้นักมวยรุ่นพี่มาช่วยประกบ จึงทำให้แข็งแกร่งขึ้น จนหลัง ๆ ก็เริ่มมีที่ชกชนะบ้าง”

คุณลุงเล่าประสบการณ์ขึ้นชกมวยต่ออีกว่า ตอนนั้นได้มีโอกาสเดินสายชกมวยตามเวทีงานวัดในต่างจังหวัด โดยได้ขึ้นชกเกือบ 20 ครั้ง จนได้ไปต่อยที่เวทีมวยสำโรง ซึ่งเป็นเหมือนด่านแรกในการก้าวไปชกบนเวทีใหญ่อย่างเวทีลุมพินี โดยหลังจากขึ้นชกที่เวทีมวยสำโรงไป 2 ครั้ง ที่สุดคุณลุงก็ได้ไปขึ้นชกเป็นมวยแทนที่เวทีลุมพินีครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อคุณลุงอายุ 19 ปี ก็ตัดสินใจว่าจะไม่ขึ้นชกแล้ว เพราะจะเตรียมตัวบวชแทนพระคุณคุณพ่อคุณแม่ ทว่าหลังจากบวชแล้วสึกออกมา ก็มีโอกาสได้ไปขึ้นชกแทนเพื่อนอีกครั้ง ซึ่งการขึ้นชกครั้งนี้คุณลุงบอกว่า รู้สึกเจ็บมาก จนทำให้ตัดสินใจที่จะเลิกชกมวยไปเลย 

“ความคิดเดิมแต่แรกของผม ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะยึดการชกมวยเป็นอาชีพ เพราะรู้ตัวเองว่าไม่ได้เก่ง แค่รักมวยเท่านั้น แต่หลังจากผมเลิกชกก็ยังไม่ได้ทิ้งวิชาไป เพราะยังรักมวยอยู่ ก็เลยตั้งตัวเป็นครูสอนมวยเสียเอง เพราะอยากเอาความรู้ที่ตัวเองมีมาสอนเด็กแถวบ้าน เพื่อดึงเด็ก ๆ ไม่ให้ไปติดยา ติดการพนัน หรือไปเกเร” คุณลุงทวีศักดิ์ระบุ

ในเวลาต่อมา หลังจากที่คุณลุงแต่งงาน ก็ได้ย้ายไปอยู่ย่านพรานนก จนเมื่อมีลูกชาย ก็อยากให้ลูกแข็งแรง เพราะตัวคุณลุงมีประสบการณ์ถูกรังแกตอนแด็ก จึงสนับสนุนให้ลูกเข้าฟิตเนสเพื่อเล่นกล้าม จะได้ตัวใหญ่ ๆ แต่การออกกำลังกายที่ฟิตเนสต้องใช้เงินเยอะ ซึ่งบางเดือนถ้าไม่มีเงินก็ไปออกกำลังกายไม่ได้ ทำให้คุณลุงเกิดความคิดอยากจะเปิดยิมแถวบ้าน โดยมีจุดยืนว่า ไม่เก็บเงินค่าเล่นแพง เพื่อให้คนในชุมชนได้มีสถานที่เพื่อออกกำลังกาย ซึ่งความคิดนั้นก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 2549 เมื่อตัดสินใจที่จะเปิดกิจการฟิตเนสขึ้นมา โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไป มีเงินก็ซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเข้ามาก่อน ค่อย ๆ ซื้อเข้ามาเติมทีละชิ้น

“ช่วงที่เริ่มมาดูแลฟิตเนสจริงจัง ผมก็เริ่มเรียนรู้วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง โดยลูกเขาเอาวิดีโอมาให้ดู เอาหนังสือมาให้ศึกษา และก็ได้เพื่อน ๆ ของลูกมาช่วยเทรน มาช่วยสอนให้ พอสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยเขาเปิดอบรมการเป็นผู้ฝึกสอนกีฬาเพาะกายและฟิตเนส ผมก็ไปเข้าอบรม จนที่สุดก็สอบผ่านได้ใบประกาศนียบัตรผู้ฝึกสอน” คุณลุงบอกถึงจุดเปลี่ยนชีวิตในเรื่องนี้

ทั้งนี้ สำหรับ “ยิมของคุณลุง” นั้น คุณลุงบอกว่า มีปรัชญาคือ “สอนฟรี-การันตีผลงาน-บริการเป็นกันเอง” โดยคนที่จะใช้บริการจะเสียแค่ค่าสมาชิกรายเดือนเพื่อเป็นค่าใช้อุปกรณ์ ส่วนการฝึกทางคุณลุงสอนให้ฟรี ๆ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งในปัจจุบันยิมแห่งนี้คิดค่าใช้บริการ 1,400 บาทต่อเดือน โดยได้เปิดให้บริการมาจนเข้าสู่ปีที่ 16 แล้ว

“ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ด้วยรายได้ที่เข้ามาแค่นี้ ด้วยเรตค่าบริการที่เราคิดแค่นี้ จึงทำให้แต่ละเดือนแทบไม่เหลือกำไร แต่ผมก็คิดว่า แค่นี้เราก็ยังพออยู่ได้ ขอให้แต่ละเดือนได้ค่าน้ำค่าไฟค่าเช่าก็พอ เพราะไม่ได้ตีค่ากำไรเป็นตัวเงิน แต่คิดว่าถ้าคนที่ออกไปจากยิมกลายเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็คือกำไรของเรามากกว่า ซึ่งการที่เราได้เห็นแค่นี้ ก็อิ่มใจแล้ว” คุณลุงบอกเรื่องนี้กับเราด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

ก่อนจบการสนทนากัน คุณลุง “ทวีศักดิ์ ยศสมศรี” เจ้าของฉายา “ลุงสตรองยิม” ทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า พออายุเยอะขึ้น ลูกก็มักจะบอกว่า ถ้าคุณพ่อไม่ไหวให้หยุดทำ แต่ก็ได้ย้ำไปเสมอว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะหยุด… “วันนี้ผมอายุ 68 ปีแล้ว แต่ก็ยังออกกำลังกายเล่นกล้ามทุกวันให้ร่างกายแข็งแรงนานเท่าที่จะนานได้ เพราะผมคิดเสมอว่าอยากจะทำตรงนี้ให้นาน ๆ จะขอทำให้ยิมนี้อยู่ต่อไปให้นานที่สุด เพราะคิดเสมอว่า ยิ่งผมและยิมนี้อยู่ได้นานเท่าไร ก็ย่อมหมายความว่า…

เมืองไทยจะมีคนแข็งแรงเพิ่มขึ้น“.