จากการประเมินของธนาคารโลก ชาวศรีลังกากลายเป็นคนยากจนใหม่ กว่า 5 แสนคน นับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ซึ่งตามหลักวิชาการ เท่ากับการพัฒนาของศรีลังกา ก้าวถอยหลังไปอย่างน้อย 5 ปี

นอกจากหนี้สาธารณะเพิ่มพูน และขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากทุนสำรองร่อยหรอลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ศรีลังกายังเผชิญภาวะขาดแคลนรุนแรง สิ่งของยังชีพพื้นฐานรายวัน เช่น อาหาร ยารักษาโรค ก๊าซและเชื้อเพลิง ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านี้ ราคาพุ่งสูงต่อเนื่อง

จากรายงานของสำนักข่าว เอเชีย นิวส์ ทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ลดลงนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา เข้ารับตำแหน่งในเดือน พ.ย. 2562 จาก 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือประมาณ  3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (103,318 ล้านบาท) เมื่อถึงสิ้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เพียงพอจ่ายค่าสินค้านำเข้า ได้ไม่ถึง 2 เดือน

ทำให้ทางการโคลัมโบต้องจำกัดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์จำเป็นหลายชนิด รวมถึง อาหาร เพื่อพยายามประหยัดทุนสำรองดอลลาร์สหรัฐที่สำคัญอย่างยิ่ง

มาตรการนี้ บวกกับราคาเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสินค้าสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าจำเป็นพื้นฐานในประเทศพุ่งสูง เช่น ข้าว และนมผง

อัตราเงินเฟ้อรายปีของศรีลังกา ในเดือน ธ.ค. 2564 สูงสุดนับตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคแห่งชาติ (เอ็นซีพีไอ) ในปี 2558 โดยภาวะราคาอาหารเฟ้อ สูงเป็นสถิติที่ 21.5% จาก 16.9% ในเดือน พ.ย.ก่อนหน้า และสูงขึ้น 7.5% จากปี 2563

ในระยะ 4 เดือนล่าสุด ราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากถังละ 7.50 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 13.25 ดอลลาร์สหรัฐ (441.60 บาท) หรือสูงขึ้นประมาณ 85%

ThePrint

จากการที่ค่าเงินรูปี สกุลเงินของประเทศลดลง ทำให้การนำเข้าแพงขึ้นสวนทาง การไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ เปลี่ยนจากช่องทางเป็นทางการ เป็นไม่เป็นทางการ

ปัญหาหนักสุดคือ หนี้ต่างประเทศที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และรัฐบาลศรีลังกาต้องชำระหนี้ กว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (199,972 ล้านบาท) ภายในปีนี้

ปมหลักที่มาของวิกฤติคือ หนี้สาธารณะ รัฐบาลโคลัมโบวนอยู่ในวัฏจักรของการกู้ยืม นับตั้งแต่ปี 2550 ตัวเลขหนี้พอกพูนขึ้นถึง 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (393,276 ล้านบาท) จากพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด 36.4% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 2 จำนวน 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14.3% ของทั้งหมด  ญี่ปุ่น 10.9% และจีน 10.8% โดย 2 ประเทศหลังให้ศรีลังกากู้ยืม รวมทั้งหมดประเทศละประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หนี้ต่างประเทศรายย่อยส่วนที่เหลือ เป็นของหลายประเทศ เช่น อินเดีย และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) และสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

วิกฤติหนี้สินของศรีลังกาย่ำแย่ลงอีก จากการระบาดของโควิด-19 ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบหนักต่อธุรกิจการท่องเที่ยว แหล่งรายได้หลักเข้าประเทศ การปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกือบตลอด 2 ปี ทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเชื่อว่า ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดของศรีลังกาคือ ปรับโครงสร้างหนี้ แทนที่จะชำระหนี้ตามกำหนด โดยกำหนดโครงสร้างชำระคืนในระยะ 3 ปี วิธีนี้จะช่วยประหยัดเงินดอลลาร์สหรัฐที่ทรงค่า และลดภาระพลเมืองศรีลังกา ที่กำลังเผชิญภาวะขาดแคลน สินค้านำเข้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพรายวัน

ประธานาธิบดีราชปักษา บอกว่า รัฐบาลจะพึ่งพายุทธศาสตร์ที่มีอยู่ต่อไป นั่นคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนของต่างชาติ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS