เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 30 ม.ค.2565 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระพุทธปฏิมา 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ และพระพุทธรูปหินจุยเจีย และพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุองค์หลวงตา พร้อมเครื่องสูงอื่นๆ เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์ฯ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงสรงพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ และอัฐิธาตุองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน กับทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระกรัณฑ์ บรรจุพระอรหันตธาตุในผอบทองคำ และบรรจุอัฐิธาตุองค์หลวงตาพระมหาบัวฯ ในผอบทองคำลายดอกบัว แล้วพระราชทานพระกรัณฑ์และผอบ แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานที่บุษบกดอกบัว

จากนั้น เสด็จไปยังมณฑลพิธี ทรงพระสุหร่ายพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ และพระพุทธรูปหินจุยเจีย ซึ่งประดิษฐานที่บุษบกดอกบัว นอกจากนี้ เสด็จไปยังบริเวณหน้ามุขพลับพลาพิธี ทรงถือสายสูตร เพื่อประกอบพิธีอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนยอดพระธาตุเจดีย์ที่ระดับความสูง 33 เมตร สำหรับพระธาตุเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่มีกลิ่นไอศิลปะล้านช้าง รูปทรงระฆังแปดเหลี่ยม ปลียอดโลหะทองแดงปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์ 96.70%

สำหรับพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ และพระพุทธรูปหินจุยเจีย ที่อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์ฯ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ โดย พระพุทธรูปทองคำ สร้างขึ้นจากปฏิปทาของหลวงปู่อุ่นหล้า ฐิตธัมโม อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร และคณะศิษยานุศิษย์ ที่ปรารถนา “อาจารยบูชา” องค์ศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบูชาคุณพ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จึงนำพาคณะศิษยานุศิษย์บริจาคทองคำ และเงินสมทบทุนสร้างพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ ร้อยละ 99.99 กำหนดผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระพุทธรูปเงิน สร้างจากเงินบริสุทธิ์ร้อยละ 92.5 ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก  พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ร้อยละ 42 (10 เค) ผสมอัลลอยเพื่อให้เนื้อออกมาเป็นสีนาค ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ และ พระพุทธรูปหินจุยเจีย สร้างจากหินควอตซ์เกรดดีที่สุด น้ำหนัก 25 กิโลกรัม แกะสลักโดยช่างฝีมือระดับสูง ที่อายุน้อยที่สุดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน พระพุทธรูปองค์นี้ผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุได้รับการประทานจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) และอัฐิธาตุองค์ของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ที่บรรจุในวันนี้นั้น เป็นส่วนของศีรษะและฟันของหลวงตาฯ 

จากนั้น เสด็จไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ทรงเปิดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ประกอบด้วยห้องจัดแสดงนิทรรศการ จำนวน 6 ห้อง คือ ห้องที่ 1 “ธรรมของพระพุทธเจ้า” ห้องที่ 2 “จากกตัญญู มีสัจจะ สู่ร่มกาสาวพัสตร์” ห้องที่ 3 “จากปริยัติ มุ่งมั่นเพียรพยายามสู่การปฏิบัติ” ห้องที่ 4 “เมตตา อบรม สั่งสอน” ห้องที่ 5 “บารมีหลวงตาช่วยชาติ” และห้องที่ 6 “ละสังขาร พุทธบริษัท 4 สามัคคีบูชา”

ก่อนเสด็จกลับ ได้พระราชทานพระวโรกาสให้ผู้แทนกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จ.อุดรธานี เฝ้า เพื่อถวายผ้าขิดไหม ผ้าพื้นเมืองของภาคอีสานที่มีลวดลายงดงามเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ “ผ้าขิดไหมลายสายธารนาคเชียงรวงย้อมดอกบัวแดง” นำต้นแบบลายจากหมอนขิดโบราณ ลายหน้าต่างประตูโบสถ์ ลายหน้าบันโบสถ์ สำหรับ “ผ้าขิดไหมลายสายธารน้ำพระทัย สายใยภูมิปัญญาชาวอุดรธานี” และ “ผ้าขิดไหมลายบัวสวรรค์ ย้อมดอกบัวแดงและสายบัวแดงถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์”  

ทั้งนี้ โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ วัดเกษรศีลคุณ คณะผู้ออกแบบ และคณะกรรมการด้านต่าง ๆ  ได้ร่วมกันดำเนินงานด้านโครงสร้าง และงานสถาปัตยกรรม ทั้ง 3 อาคารประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ พร้อมส่วนประกอบอื่น ๆ โดยเป็นแนวเดียวกับจิตกาธาน สถานที่พระราชทานเพลิงสรีรสังขารขององค์หลวงตาพระมหาบัวฯ แล้วยังเป็นทิศทางเดียวกันกับแนวชี้ตรงไปถึงพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดินแดนพุทธภูมิในสาธารณรัฐอินเดีย

พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานที่ยังคงดำรงอย่างมั่นคง และเจริญรุ่งเรือง ทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมศรัทธาของคณะทำงานทุกฝ่ายที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องด้วยพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าที่มีต่อหลวงตาพระมหาบัวฯ และพุทธศาสนา ซึ่งสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “พุทธศาสนา-พระมหากษัตริย์-ชาติ-แผ่นดิน-ประชาชน” จะโอบเอื้อ เกื้อกูล หนุนนำ อยู่ภายใต้ผืนแผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน.