เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า กระแส Digital Disruption จะมีมาอีกเรื่อย ๆ และการทำ Digital Transformation จะเป็น Key Word สำคัญที่เราได้ยินกันต่อไปอีกนาน อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ซึ่งค่อนข้างจะแน่ชัดแล้วว่ามนุษยชาติต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคนี้ไปอีกนาน การอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เปรียบเสมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เราได้มีประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ทำให้ทุกวันนี้เราต้องใช้ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตและระบบสารสนเทศต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การใช้งานแอพพลิเคชั่นหรือเซอร์วิสต่าง ๆ บนระบบ Cloud มากขึ้นรวมทั้งระบบประมวลผลบนระบบ Cloud ที่มีความสามารถมากขึ้น การทำงานจากที่บ้านหรือระยะไกลหรือ Work From Home การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การส่งสินค้าและอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น การประยุกต์ใช้งาน AI (Artificial Intelligence) ที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น การใช้งานวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data Analytics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายหรือการผลิต เป็นต้น       

   

ดร.ชัยพร กล่าวว่า ในอีกไม่นานเราก็จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล การเก็บสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน NFT (Non-Fungible Tokens) จะกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างมักมี 2 ด้านเสมอ เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ก็อาจมีด้านที่ส่งผลด้านลบต่อผู้ใช้งานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โลกโซเชียลมีเดียมักมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บไปมักถูกนำไปใช้เพื่อขยายผลทางธุรกิจโดยที่เจ้าของไม่ได้ยินยอม หรือการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีต่อระบบสารสนเทศของเป้าหมายเพื่อขโมยข้อมูลต่าง ๆ หรือการก่ออาชญากรรมโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เช่น การหลอกโอนเงินออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อกำกับควบคุมการใช้งานเทคโนโลยี สร้างสมดุลระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน รวมทั้งเตรียมการรับมือที่ดีเมื่อเกิดภัยคุกคามต่าง ๆ

“ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้พบเจอกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ชีวิตผ่านโลกเสมือนจริงเช่นMetaverse คล้ายกับในภาพยนตร์ Ready Player One, การประมวลผลข้อมูลที่มีความเป็น Digital Privacy มากยิ่งขึ้น โดยการใช้เทคนิค Zero Knowledge หรือ Differential Privacy หรือ Homomorphic Encryption, เทคโนโลยีWeb3.0 ที่มีความสามารถมากขึ้นโดยเฉพาะด้านกราฟิกส์ กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. PDPA, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act : CSA)  และ Payment Transaction Tracking เป็นต้น รวมทั้งการมาถึงของการประมวลผล Quantum ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดร.ชัยพร กล่าว

ดร.ชัยพร กล่าวด้วยว่า จากที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเป็นกระแสเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิด Digital Disruption อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หลายคนมีการปรับตัวโดยทำ Digital Transformation บ้างแล้ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หลายคนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้อย่างคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่อาจตกขบวนไม่สามารถก้าวตามกระแสเหล่านี้ได้ทัน ดังนั้นการเตรียมตัวเองให้พร้อมและปรับตัวอยู่เสมอสอดคล้องกับการทำ Digital transformation มีการเตรียมความพร้อมขององค์กร การเพิ่มพูนความรู้บุคลากรทั้ง Re-skill และ Up-skill การปรับใช้เครื่องมือทางระบบสารสนเทศและแอพพลิเคชั่นให้เหมาะสมและทันสมัย รวมทั้งการปรับกฎเกณฑ์หรือระเบียบการทำงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และควรดำเนินการแต่เนิ่น ๆ และมีความสม่ำเสมอ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างผลผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและต้นทุนที่ลดลง เพราะหากดำเนินการล่าช้าในโลกยุคโลกาภิวัตน์อาจทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่เกิดขึ้นได้

สำหรับ CITE ที่ DPU นั้นได้มีการปรับหลักสูตรทั้งหลักสูตรระยะสั้นและปกติ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เช่น มีการแทรกเนื้อด้านการสร้างบล็อกเชน มาตรฐานและกลไกต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ. PDPA และ CSA มีวิชาที่มีการสร้าง Web application ตามมาตรฐาน Web3.0 มีการให้บริการวิจัยแก่ภาครัฐที่เกี่ยวกับ Metaverse เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนและใช้บริการได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง