วันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเปิดเผยแผนโครงร่างเป้าหมายสำคัญ สำหรับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมบนแผ่นดินใหญ่ ในแผนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) ซึ่งเนื้อหาหลักโดยสรุป ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว มีดังนี้

เครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศ จะขยายความยาวถึง 50,000 กิโลเมตร ภายในปี 2568 จากประมาณ 38,000 กิโลเมตร ในปี 2563

95% ของเมืองต่าง ๆ ที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คนขึ้นไป จะมีทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านเมือง ระยะทางอย่างน้อยเมืองละ 250 กิโลเมตร

จีนจะมีทางรถไฟบนดินรวมความยาวถึง 165,000 กิโลเมตร ในปี 2568 ขยายจาก 146,000 กิโลเมตร ในแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ส่วนทางรถไฟใต้ดินในเขตเมืองจะขยายถึง 10,000 กิโลเมตร จาก 6,600 กิโลเมตรในปัจจุบัน

เครือข่ายถนนทางด่วนระยะทางรวมจะขยายถึง 190,000 กิโลเมตร จาก 161,000 กิโลเมตร และระยะทางการขนส่งทางลำน้ำ ขยายเป็น 18,500 กิโลเมตร จาก 16,100 กิโลเมตร

จีนจะมีสนามบินพลเรือนระดับมาตรฐานสากล กว่า 270 แห่งทั่วประเทศ จาก 241 แห่ง ในปัจจุบัน

ระบบคมนาคมขนส่งทั่วแผ่นดินใหญ่จะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมืองต่าง ๆ จะได้เห็น 72% ของรถโดยสารวิ่งด้วยพลังงานใหม่ ตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก 66.2% ในปัจจุบัน และความเข้มของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคคมนาคมขนส่ง จะลดลงประมาณ 5%

เป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฉบับที่ 14 คือบรรลุการพัฒนาแบบูรณาการในปี 2568 มีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม ในการเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ให้มีความเป็นอัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แผนพัฒนาฉบับนี้ยังมองไกลไปถึงปี 2578 เป้าหมายสร้างวงรอบ 1-2-3 (1-2-3 circles) สำหรับการเดินทางโดยสารของประชาชนและการขนส่งสินค้า

วงรอบ 1-2-3 หมายถึง ระยะเวลาการเดินทางภายในเขตเมืองต่าง ๆ และระหว่างกลุ่มเมืองและในเมืองใหญ่ระดับมหานครจะลดลงเหลือ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมง ตามลำดับ

การส่งพัสดุไปรษณีย์ด้วยบริการด่วนพิเศษ จะถึงมือผู้รับภายในเวลาวันเดียวภายในประเทศจีน ภายใน 2 วันหากส่งไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และไม่เกิน 3วัน หากส่งไปยังเมืองขนาดใหญ่ทั่วโลก

ปี 2568 การขนส่งสินค้าประเภทธัญพืช พลังงาน และสินแร่ในช่องทางสำคัญ จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ จะได้รับความคุ้มครองมากกว่าเดิม

ตามแผนพัฒนาฯ ยังรับประกัน การเชื่อมต่อระหว่างประเทศจะดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยแผนยกระดับระบบสาธารณูปโภคขนส่ง กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านสานต่อการพัฒนา เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป ให้มีคุณภาพสูงทัดเทียมหรือดีกว่าระบบของตะวันตก

และอีกหนึ่งเป้าหมาสำคัญ คือการสร้าง เส้นทางสายไหมอากาศ (Air SilkRoad) เพื่อให้ครบวงจรตาม แผนยุทธศาสตร์การค้าเส้นทางสายไหมใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 หรือ“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนคนปัจจุบัน ที่กำลังลุยก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค สำหรับการคมนาคมทั้งทางบก และทางทะเลเพื่อเชื่อมต่อกับหลายภูมิภาคของโลกในขณะนี้

เส้นทางสายไหมอากาศเป็นแผนริเริ่มอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับอุตสาหกรรมการบินพลเรือน ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ ในหลายเส้นทางระหว่างจีนกับยุโรป โดยเป้าหมายหลักของแผนนี้ ตามที่ทางการจีนแถลง คือปรับปรุงการเชื่อมต่อ และพัฒนาเศรษฐกิจการบินอย่างยั่งยืน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES