เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานที่ประชุม เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 6 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการวิจัยพัฒนาและจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิคณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย และคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส ซึ่งมีความก้าวหน้าไปมากในแต่ละด้าน โดยเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการในพื้นที่อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบนำร่องการใช้องค์ความรู้เรื่องทักษะสมอง Executive Functions (EF) เป็นฐาน

“พื้นที่ต้นแบบการบูรณาการฐาน EF เป็นการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการ (RLG Area Transforming Method) โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ฝ่ายสาธารณสุข การศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารหน่วยงานรัฐ พ่อแม่ผู้ปกครอง และชุมชน ในการเรียนรู้ร่วมกันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็กปฐมวัย จุดประกาย ระดมความคิด สร้างความตระหนักรู้ ให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะแก้ปัญหาและพัฒนา ซึ่งจากการประเมินผลด้วยเครื่องมือของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า เด็กปฐมวัยในพื้นที่นำร่องในอำเภอพญาเม็งรายที่ได้รับการดูแลแบบบูรณาการจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น มีค่า EF เฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศถึงร้อยละ 20 ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เด็กเกิดความตระหนักรู้ ทำให้ห่างไกลจากยาเสพติด ที่ประชุมจึงให้มีการขยายผลพื้นที่ต้นแบบบูรณาการฐาน EF ไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ” เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าว

ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเด็กปฐมวัย เพื่อรวบรวมข้อมูลของเด็กปฐมวัยทุกสังกัดทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง สกศ.ได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว โดยปีงบประมาณ 2565 ได้รับงบฯ 1.2 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 เสนอขอตั้งงบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อขยายผลโครงการจัดทำระบบบัญชีเด็กปฐมวัย แพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และแอพพลิเคชั่นสำหรับสืบค้นข้อมูลรายบุคคลของเด็ก รวมถึงขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมดำเนินการ อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับชั้นความลับของเด็กด้วยว่า ในการเผยแพร่ข้อมูลของเด็กนั้นจะสามารถเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีแง่มุมของกฎหมายและเรื่องของสิทธิด้วย ที่ประชุมจึงมอบให้คณะอนุกรรมการกฎหมายไปดูเรื่องนี้ด้วย.