บริหารประเทศ 7 ปีกว่า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางไปต่างประเทศน้อยมาก! มีไปบ้างก็ต้องเป็นการประชุมใหญ่ระดับโลก ไปในฐานะผู้นำประเทศ แล้วมักจะมีเรื่อง “ขำขัน” ตามมาทุกครั้ง

7 ปีกว่า ๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ แทบนึกไม่ออกว่าไปประเทศไหนแล้วมีการตั้งแถวทหารกองเกียรติยศต้อนรับบ้าง? ยังนึกไม่ออกว่ามีประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีประเทศไหน เดินทางมาเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์บ้าง?

แต่จู่ ๆ ได้รับการเทียบเชิญให้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ท่ามกลางปัญหา “ฝุ่นแป้ง” ตลบอบอวลอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ต้องครวญเพลง “อย่ายอมแพ้” ในที่ประชุมรัฐมนตรีและทีมงานเศรษฐกิจ

แต่วันรุ่งขึ้น “อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์” นักร้องสาวเจ้าของเพลง “อย่ายอมแพ้” คงรู้สึกว่าทนไม่ไหว จึงออกมาแนะนำให้นายกฯ ร้องเพลง “ถอยดีกว่า” เนื่องจากอดีตนายกฯหลายคนเมื่อเห็นว่าไปไม่ไหว อยู่แล้วบ้านเมืองเสียหายหรือคนในชาติเกิดการเผชิญหน้ากัน ก็ตัดสินใจ “ลาออก-ยุบสภา”

เช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออก นายบรรหาร ศิลปอาชา ประกาศยุบสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 แต่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศจนมีหนี้สินเพียบ ข้าวยากหมากแพงทั้งแผ่นดิน แต่ยังครวญเพลง “อย่ายอมแพ้” ซึ่งไม่มีนายกฯ คนไหนเขาทำกันแบบนี้

ดังนั้นการไปซาอุฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ห่างเหินกันมากว่า 30 ปี อย่างนั้นหรือ? เพราะคนไทยรู้เรื่องราวความบาดหมางจากมหากาพย์ขโมยเพชรซาอุฯ ต่อเนื่องมายังปัญหาเพชรเม็ดงาม “บลูไดมอนด์” และคดีอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี” นักธุรกิจซึ่งเป็นพระญาติของกษัตริย์ซาอุฯ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดี

จากกรณีขโมยเพชรมาถึงการอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี” รัฐบาลซาอุฯ จึงลดความสัมพันธ์กับไทย เหลือแค่ระดับ “อุปทูต”

แต่ช่วงปี 55-56 สัญญาณความสัมพันธ์ 2 ประเทศมีแนวโน้มเริ่มจะดี เมื่อมีการปัดฝุ่นคดี “อัลรูไวลี” อย่างจริงจัง มีการไปสอบพยานถึงซาอุฯ โดยมีระดับอธิบดี-รองอัยการสูงสุด-ทนายความ บินไปซาอุฯ และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่ใช่ไปแล้วรีบบินกลับ เนื่องจากสามารถนำกลุ่มผู้ต้องหาส่งฟ้องศาลได้

สัญญาณดีมากขนาดรัฐบาลซาอุฯ พยายามมองหาที่ดินทำเลสวย ๆ เพื่อสร้าง “สถานทูต” แต่สุดท้ายก็หยุดไว้แค่นั้น! เนื่องจากไทยไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ กลายเป็นบาดแผลลึกกระทบความสัมพันธ์ 2 ประเทศมายาวนาน

ดังนั้นการไปเยือนซาอุฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงถูกตั้งคำถามมากมายว่าถูกเชิญไปเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือไปเรื่องความมั่นคงทางทหารมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน “ซาอุดร-ซาอุบล” ที่เคยรุ่งเรืองสุด ๆ ช่วงปี 20-31 ก่อนมีการขโมยเพชรซาอุฯ ในปี 32

บิ๊กตู่”เยือนซาอุฯเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร หารือความสัมพันธ์ 2 ประเทศ |  เดลินิวส์

แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่า “ซาอุดร-ซาอุบล” จะรุ่งเรืองเหมือนอดีต เพราะหลายประเทศบุกตีตลาดแรงงานในซาอุฯ แตกหมดแล้ว

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูต ให้ความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าการเยือนครั้งนี้มีขึ้นค่อนข้างกะทันหัน ทำให้หลายคนแปลกใจ รวมทั้งไม่ทราบสาเหตุแท้จริงที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนจะมาจากการตัดสินใจของทางซาอุฯ เป็นคนเชิญ ซึ่งผู้ที่ติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศย่อมรู้ว่า ขณะนี้ซาอุฯ เองมีปัญหาทั้งภายในและด้านการต่างประเทศอย่างมาก

นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่านายกฯ ไทยเป็นฝ่ายบินไปหาเขา แต่ไม่ได้ถูกจัดให้เข้าพบกษัตริย์และนายกฯ ซาอุฯ ซึ่ง
แลดูไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเท่าไหร่!!.

————————
พยัคฆ์น้อย