“ซูซาน เวอร์เจ็ดกี”  ซีอีโอ ยูทูบ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ยูทูบ (YouTube) แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในทั่วโลก ได้ส่งจดหมายประจำปี ให้ข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับสิ่งที่ทางยูทูบจะให้ความสำคัญ ในปี 2022 นี้ ก็คือ สถานะทางเศรษฐกิจของครีเอเตอร์ นวัตกรรม การสนับสนุนงานของครีเอเตอร์ และการปกป้องชุมชน ยูทูบ

โดยในส่วนของ สถานะทางเศรษฐกิจของครีเอเตอร์  จะมุ่งมั่น สร้างความเติบโตให้กับระบบนิเวศของครีเอเตอร์ ปัจจุบันจำนวนผู้ที่เข้ามาสร้างเนื้อหาบนยูทูบ มากกว่าแต่ก่อน โดยมีจำนวนช่องจากทั่วโลกที่สร้างรายได้มากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี​ เพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ รายงานจาก Oxford Economics ระบุว่าในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่คนทั่วโลกต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบบนิเวศการสร้างสรรค์ของ ยูทูบช่วยสร้างงานมากกว่า 800,000 ตำแหน่ง เมื่อรวมจากทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป โดยปัจจุบันครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้จาก ยูทูบ มากถึง 10 ช่องทาง

นอกจากนี้ ทางยูทูบยังมองไกลไปถึงอนาคตและคอยติดตามสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกเว็บ 3.0 เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ บนยูทูบอย่างต่อเนื่อง ทั้งโลกของคริปโต โทเค็นที่ไม่สามารถทดแทนกันได้ (NFT) หรือแม้กระทั่งองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (DAO) จึงให้ความสำคัญเพื่อช่วยให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้จากเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงสิ่งต่างๆ อย่าง NFT

สำหรับเรื่อง นวัตกรรม “ซูซาน เวอร์เจ็ดกี”  บอกว่า ในปีนี้ยูทูบจะลงทุนพัฒนา Shorts เพื่อช่วยผลักดันให้ครีเอเตอร์เริ่มต้นและเข้าถึงผู้ชมใน Shorts ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้จะมีช่องทางให้ครีเอเตอร์สร้างรายได้บน Shorts ผ่านเงินสนับสนุนของ Shorts ที่มีให้บริการในมากกว่า 100 ประเทศแล้ว จะช่วยเปิดโอกาสให้มีครีเอเตอร์หน้าใหม่ โดยในปีที่ผ่านมา ครีเอเตอร์มากกว่า 40% ที่ได้รับเงินสนับสนุนนี้

ในส่วนของ เพลง ในปีที่ผ่านมา บรรลุเป้าหมายครั้งใหญ่ ตอนนี้มีสมาชิกและผู้ทดลองใช้ Music และ Premium รวมแล้วมากกว่า 50 ล้านราย  และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยูทูบสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเพลงมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในเรื่องเกม เพียงในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ยูทูบก็มียอดดูเกี่ยวกับเกมมากกว่า 8 แสนล้านครั้ง มีการสตรีมแบบสดมากกว่า 90 ล้านชั่วโมง และมีการอัปโหลดมากกว่า 250 ล้านรายการ โดยทางยูทูบอยากปรับปรุงประสบการณ์การเผยแพร่สดให้แก่ผู้ชมและครีเอเตอร์ทุกคน โดยเน้นปรับปรุงการค้นพบได้ของเนื้อหาสดและเพิ่มฟีเจอร์แชต นอกจากนี้ กำลังพยายามทำให้ครีเอเตอร์และผู้ใช้สร้างวิดีโอสั้นเกี่ยวกับเกมได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับปีนี้ จะเปิดตัวฟีเจอร์หนึ่งที่ผู้ใช้ขอมามากที่สุด ก็คือ “การเป็นสมาชิกแบบของขวัญ”

ในด้านชอปปิง ซีอีโอ ของยูทูบ บอกว่า กำลังลงทุนพัฒนาเพื่อให้ ยูทูบ กลายเป็นตลาดการค้ายุคใหม่ โดยได้เปิดตัวโปรแกรมนำร่องการติดแท็กของครีเอเตอร์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เลือกชม ศึกษาข้อมูล และซื้อสินค้าที่อยู่ในวิดีโอที่ชื่นชอบ นอกจากนี้ยังอยู่ในช่วงทดสอบเริ่มต้นเพื่อหาวิธีรวมการช็อปปิ้งเข้ากับ Shorts ด้วย

“เราได้ทดลองใช้การชอปปิงแบบเรียลไทม์ในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และบราซิล และจะเริ่มให้บริการการช็อปปิ้งแก่ครีเอเตอร์และแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติมในปีนี้โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopify พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้ได้รับความบันเทิงและโต้ตอบได้มากยิ่งขึ้น”  ซีอีโอ ของยูทูบ ระบุ

นอกจากนี้ กำลังสำรวจวิธีการอื่นๆ ที่จะนำสิ่งที่ดีที่สุดจาก ยูทูบ มาสู่หน้าจอทีวี และช่วยให้ผู้ชมสามารถใช้โทรศัพท์ โต้ตอบกับวิดีโอ ยูทูบที่รับชมผ่านหน้าจอทีวีได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับในประเด็น การปกป้องชุมชนยูทูบ นั้น ทาง ซีอีโอ ของยูทูบ บอกว่า ยังยึดมั่นปกป้องชุมชนด้วยความรับผิดชอบ การจัดการกับการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและเนื้อหาที่เป็นอันตรายอื่นๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ให้ความสำคัญสูงสุด โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราได้เปลี่ยนรูปแบบการบังคับใช้นโยบายในวงกว้างผ่านการลงทุนในแมชชีนเลิร์นนิง และกำลังดำเนินการลดเนื้อหาในส่วนของวิดีโอแนะนำที่ขัดกับแนวนโยบายของยูทูบ และได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อออกแบบประสบการณ์ให้เหมาะกับทุกคนบนยูทูบ และกำหนดมาตรฐานให้ปกป้องเด็กได้อย่างเหมาะสมในทุกช่วงวัยของชีวิต

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวการปกป้องรูปแบบใหม่สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เช่น การกำหนดค่าเริ่มต้นให้อัปโหลดแบบส่วนตัว การเปิดฟังก์ชันปกป้องไลฟ์สไตล์ดิจิทัล การปิดฟังก์ชันเล่นอัตโนมัติ และการบล็อกไม่ให้กำหนดเป้าหมายโฆษณาเป็นผู้ใช้เหล่านี้ เและจะเดินหน้าปรับปรุงคุณภาพเนื้อหาสำหรับเด็กต่อไปในปีนี้

และสุดท้ายในประเด็นภาพรวมด้านระเบียบข้อบังคับ ยูทูบจะเดินหน้าประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่ผู้ชม ครีเอเตอร์ และศิลปินบนแพลตฟอร์มให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจว่าการตัดสินใจของตนส่งผลต่อรายได้ของครีเอเตอร์ที่กำลังเติบโตอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตามยูทูบปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่แล้วในขณะนี้ แต่ก็มีความกังวลถึงระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนครีเอเตอร์โดยทางอ้อม โดยเฉพาะระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการแสดงออกทางกฎหมาย