กำลังเป็นกระแสที่มาแรงสำหรับ “เมตาเวิร์ส” ที่กำลังถูกจับตาว่าอาจจะสร้างผลกระทบ ในสังคมหลากหลายมิติ ในการใช้ชีวิตของคน ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การแพทย์ และสื่อสารสนเทศ ฯลฯ

โดยเฉพะอย่างยิ่งมีการคาดการณ์และบทวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence ที่ระบุว่า จะมีมูลค่าตลาดทั่วโลกเพิ่มเป็น 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 67 จากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี  63 โดยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในเวลา 4 ปี!!!

สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ว่า เทคโนโลยี  “เมตาเวิร์ส” ที่หลอมรวมทุกเทคโนโลยีเสมือนในปัจจุบัน อย่าง Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) และเทคโนโลยีที่ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการผสานจุดเด่นของ AR และ VR เข้าด้วยกัน หรือ Mixed Reality (MR)  กำลังเป็นที่จับตาของทุกวงการจริงๆ

อย่างไรก็ตาม “เมตาเวิร์ส” จะเป็นอย่างไร มีทิศทางไปทางไหน แล้วจะเป็นโอกาสให้กับคนได้อย่างไร ทางโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสื่อเสมือนจริง ภายใต้แผนงาน โครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย (Reinventing University System) โดยทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนาออนไลน์อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยี AR/VR โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับกูรูแถวหน้าในอุตสาหกรรมฯ มาแบ่งปันความรู้ เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดย “ก้องเกียรติ หิรัญเกิด” ผู้เชี่ยวชาญด้าน AR และ VR และอุปนายกสมาคมอีเลิร์นนิ่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนิยามของ เมตาเวิร์ส ในมุมมองของผู้พัฒนาและผู้ใช้งาน ยังไม่มีจุดที่บรรจบกัน แม้หลายเทคโนโลยี จะเป็นเทคโนโลยีด้านเสมือนจริง (Virtual) เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่เป็น “เมตาเวิร์ส” เพราะปรัชญาของเมตาเวิร์ส คือ ต้องสามารถโยกย้ายระหว่างแพลตฟอร์มได้

ซึ่งต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1.Reality Technology ซึ่งโลกจริงและโลกเสมือนมีการติดต่อร่วมกันได้ 2. Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ แต่แก้ไขไม่ได้ และด้วยคอนเซปต์ของการเป็นเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (decentralized) กรณีที่มีการเข้าไปแก้ไข ก็จะไม่สามารถแก้ไขทุกส่วนได้พร้อมกัน และ 3.Smart Contract คือ การกระจายศูนย์แจกจ่ายการจัดข้อมูลต่างๆ ให้มีการรับรองจาก node ที่อยู่รายรอบทั่วโลก ในเวลาเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง

“แม้ว่า เมตาเวิร์ส  มีมานานแล้ว แต่มามี impact หลังจากเฟซบุ๊ก ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 2,800 ล้านคนทั่วโลก เปลี่ยนชื่อเป็น Meta แต่มีปัญหาว่าขาดผู้ใช้งานที่เป็นคนรุ่นใหม่เพราะ Gen Z ไม่ค่อยใช้เฟซบุ๊ก จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จในโลกของเมตาเวิร์ส ก็คือ การมีจำนวนคนเข้ามามากๆ เพื่อทำให้เกิดชุมชน เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นบนแพลตฟอร์ม สร้างอาชีพ เกิดรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัลต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ทั่วโลกเข้าไปสร้างอาชีพบนเมตาเวิร์ส ทั้งการเป็นครีเอเตอร์ ดีไซเนอร์ พัฒนาที่ดินในเกมเสมือนจริง เป็นต้น”

ถือเป็นมุมมองของผู้ที่คลุกคลีกับเทคโนโลยีด้าน AR และ VR แต่ในมุมมอง ของอาจารย์ที่สอนด้านเกม อย่าง “วรานนท์ หรรษ์ไชยาศรี” อาจารย์สาขาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และหัวหน้าแผนกเมตาเวิร์ส บริษัท Ever Medical Technology ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ด้านการแพทย์  มองมุมด้านการแพทย์ว่า

“ปัจจุบันเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและการพัฒนาเกม ได้ถูกประยุกต์มาใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์มากมาย เพื่อแก้ pain point ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเช่น เข้าไปจัดการข้อมูลด้านการแพทย์ เพื่อลดต้นทุนการรักษาต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 25-30% ทุกปี ประกอบกับข้อมูลทางการแพทย์เป็นก้อนข้อมูลมหาศาล และไม่ได้เชื่อมโยงกัน และคนไข้ไม่ใช่เจ้าของข้อมูล การนำเอาบล็อกเชนมาจัดการเพื่อให้ข้อมูลคนไข้ไปจัดเก็บไว้ กับเจ้าตัวได้ (Blockchain Health Information Exchange System : HIS) จะช่วยให้คนไข้เป็นเจ้าของข้อมูลได้ในอนาคต

ทั้งนี้ประโยชน์ด้านการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับมือปัญหาฉุกเฉินที่ผ่านมา ภาควิชาเกม ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เข้าไปร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อต่อยอดการพัฒนาเกมเสมือนจริง โดยพัฒนาสื่อการสอนการคัดแยกผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยใช้แว่นเสมือนจริง (VR) สำหรับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล อาสากู้ภัย

“วรานนท์ หรรษ์ไชยาศรี” บอกต่อว่า Ever Med เตรียมเข้าไปเปิดโรงพยาบาลจำลองในโลกเมตาเวิร์สต่างๆ เริ่มจากการให้คำปรึกษาด้านจิตเวชก่อน เนื่องจากทำได้ง่ายที่สุด อนาคตถ้ามีอุปกรณ์เก็บข้อมูลในร่างกาย ถูกพัฒนาออกสู่ตลาด ก็อาจขยายไปด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมี Virtual Business จากประเทศไทยบางรายเข้าไปแล้ว คือ SCB 10X

อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่มีการพุดถึงกันมา ก็คือเรื่อง Non-Fungible Token หรือ NFT ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะมีการนำผลงานศิลปะเข้าสู่ตลาด NFT จำนวนมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง “บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์” อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม วิทยาลัย  ครีเอทีฟ ดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่า สายอาร์ต หรือศิลปะ ครองตลาด NFT มานานแล้ว เพราะศิลปินสามารถแปลงผลงาน ไปเป็นทรัพย์สินดิจิทัล และขายได้ผ่านรูปแบบเงินดิจิทัล ซึ่ง NFT เมื่อตกลงซื้อขาย สิทธิความเป็นเจ้าของสามารถโอนเปลี่ยนมือโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีค่าจัดส่ง มีความปลอดภัยน่าเชื่อถือ และตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้

“ในยุคที่มีผลงานศิลปะเข้าสู่ตลาด NFT จำนวนมากอย่างในปัจจุบัน ผู้อยู่ในตลาดจำเป็นต้องวิจัยตลาด เพื่อเลือกแพลตฟอร์ม และเทรนด์ที่นิยมจึงจะขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่สื่อถึงคาแรกเตอร์กวนๆ และที่สำคัญ ศิลปินเจ้าของงานต้องดัง ระดับหนึ่งจึงจะขายได้!?!”

ซึ่งการจะประสบความสำเร็จได้นั้น ทาง “บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์” แนะนำว่า ต้องเข้าให้ถูกตลาด ยิงให้ถูกคน ต้องทำวิเคราะห์หาข้อมูลตลาดให้ดีก่อน ค่อยวาด!!

ทั้งหมดเป็นมุมมองของ “กูรู” ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมฯ ถึงทิศทางของ “เมตาเวิร์ส” รวมถึง “NFT” ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในอนาคตจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเราอย่างไรบ้าง?!?