นางอแมนดา มิลลิง รมช.การต่างประเทศและการพัฒนาสหราชอาณาจักรฝ่ายกิจการเอเชีย เดินทางเยือนไทยเป็นเวลา 3 วัน เมื่อไม่นานมานี้ ปิดท้ายการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระหว่างเข้าพบกับนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย นางมิลลิงได้หารือถึงการเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ดิจิทัล และเทคโนโลยีระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย และการทำงานร่วมกัน ในประเด็นที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน เช่น การฟื้นฟูจากการระบาดของโรคโควิด-19 และความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

นางอแมนดา มิลลิง รมช.การต่างประเทศและการพัฒนาสหราชอาณาจักร ฝ่ายกิจการเอเชียกล่าวว่า

“เรามุ่งมั่นที่จะเสริมความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการค้าและการลงทุน เทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการเจรจาด้านการเมือง

“ในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคง สหราชอาณาจักรและไทยยังต้องทำงานเคียงข้างกัน เพื่อให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความเป็นเสรีและเปิดกว้าง และจัดการกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้”

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่ามากกว่า 47,000 ล้านปอนด์ (ราว 213,000 ล้านบาท) และมีธุรกิจอังกฤษมากกว่า 5,000 รายส่งออกสินค้ามายังประเทศไทย นางมิลลิงจึงได้เน้นย้ำถึงการเยือนครั้งนี้เพื่อสร้างความ สัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ระหว่างสองประเทศ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนี้รวมไปถึง การให้เงินสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่โปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือจากกลุ่มการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ของสหราชอาณาจักร และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโต๊ะกลมกับกลุ่มธุรกิจหลัก ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในภูมิภาคนี้

นางมิลลิงยังได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรและไทย ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค ระหว่างที่พบกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้เยี่ยมชมบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในภูมิภาค เพื่อป้องปกป้องชีวิต และช่วยเหลือฟื้นฟูจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ในวาระการประชุมยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม และสนับสนุนความพยายามต่าง ๆ ระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กับประชาชนในเมียนมาไปแล้วมากกว่า 500,000 คน นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564.

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

เลนซ์ซูม