เมื่อวันที่ 18 ม.ค.​ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมประชุมหารือกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นำโดย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย คือ AIS, TRUE,​ DTAC และ NT เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง

โดยที่ประชุมได้หารือถึงวิธีการที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้การโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (โทรฯ​ ผ่าน VoIP) จากต่างประเทศเข้ามายังที่เบอร์โทรศัพท์ของประชาชนในประเทศไทย ด้วยวิธีการดังกล่าว มิจฉาชีพสามารถเลือกตั้งได้เลยว่าจะให้เบอร์ที่โทรฯขึ้นว่าเป็นเบอร์อะไร ส่วนใหญ่จะตั้งให้เป็นเบอร์โทรฯ​ ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น สถานีตำรวจ ป.ป.ส. ดีเอสไอ เพื่อก่อให้ผู้รับเกิดความเข้าใจผิด และหลงเชื่อ ให้ข้อมูลหรือโอนเงินตามคำหลอกลวงนั้น

นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า จึงได้ย้ำแนวทางป้องกันปัญหา โดยกำชับให้ผู้ให้บริการต่อสาย VoIP ไปยังปลายทาง (Call Termination) ตรวจสอบการโทรฯ​ ที่มาจากต่างประเทศ หากเบอร์ที่โทรฯ​ มานั้นมีรูปแบบเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์พิเศษ 3 หลัก หรือเบอร์พิเศษ 4 หลักของประเทศไทย ให้ตัดสายเพื่อไม่ให้ส่งต่อการโทรฯ​ นั้นไปยังปลายทางในประเทศไทย และให้ผู้ให้บริการต่อสาย VoIP ไปยังปลายทาง (Call Termination) ต้องแสดงเบอร์โครงข่ายของตนเองหรือโครงข่ายที่ตนเองเช่าใช้ที่โทรศัพท์ที่รับสายปลายทางเท่านั้น รวมทั้งหากพบว่ามีการโทรฯ​ เข้าโดยส่งเบอร์แปลกปลอมที่ไม่ใช่เบอร์ของตนเองเข้ามาให้ตัดสายนั้นทันที ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการปลอมแปลงเบอร์โทรฯ​ เข้ามา

“สำนักงาน กสทช. ได้กำชับโอเปอเรเตอร์ให้ป้องกันการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตที่มิจฉาชีพใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชนของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามมาตรการที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันก็อยากขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโทรศัพท์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ พนักงานธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ​ อย่าเพิ่งให้ข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินไปตามที่เขาขอ แต่ให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสายที่โทรฯ​ มานั้นไม่ใช่มิจฉาชีพ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินทองของท่าน” นายไตรรัตน์ กล่าว