เมื่อวันที่ 18 ก.ค.นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงรายละเอียดการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนหากาในประเทศไทยว่า หลังวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าขึ้นทะเบียนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 ก็จัดส่งวัคซีนให้ไทยโดยวันที่ 28 ก.พ.จำนวน 117,300 โดส วันที่ 28 พ.ค. 242,100 โดส วันที่ 4 มิ.ย. 1,787,100 โดส วันที่ 16 มิ.ย. 610,000 โดส วันที่ 18 มิ.ย. 970,000 โดส วันที่ 23 มิ.ย. 593,300 โดส วันที่ 25 มิ.ย. 323,600 โดส วันที่ 30 มิ.ย. 846,000 โดส วันที่ 3 ก.ค. 590,000 โดส วันที่ 9 ก.ค.  555,400 โดส  12 ก.ค.ส่งมา 1,053,000 โดส และวันที่ 16 ก.ค. ส่งมา 505 ,700 โดส  รวมทั้งสิ้น 8,193,500 โดส

ส่วนไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีน เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผนเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของไทย วันที่ 24 ส.ค.2563 ลงนามในสัญญารับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าฯ ให้กับผู้ผลิตในประเทศไทย วันที่ 23 ก.ย. คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดกาวัคซีนโควิด 19 ในเบื้องต้น วันที่ วันที่ 9 ต.ค. รมว.สธ.ออกประกาศการจัดหาวัคซีนกรณีมีเหตุฉุกเฉินโดยกำหนดให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ไปดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ประเด็นนี้ในขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตออกมาได้ แล้วผ่านการรับรอง ผ่านการตรวจสอบ อันนี้เป็นสัญญาที่ทำล่วงหน้า ซึ่งวัคซีนอาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ได้ ถ้าไม่สำเร็จก็ถือว่าไม่เป็นไร ถือเป็นการวางแผนจัดหาล่วงหน้า แต่เป็นที่น่ายินดี ที่สามารถจัดหาวัคซีนได้สำเร็จ ผลิตได้สำเร็จ”

ต่อมาวันที่ 17 พ.ย.2563 ครม.เห็นชอบการจองวัคซีนล่วงหน้า (แอสตร้าฯ)  26 ล้านโดส วันที่ 27 พ.ย. 2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย ที่ทำเนียบรัฐบาล คือ แอสตร้าฯ ประเทศไทย  สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค วันที่ 5 ม.ค. 2564 ครม.เห็นชอบสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส กระทั่งวันที่  20 ม.ค. อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ  ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน วันที่ 23 ก.พ. ครม.เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เพิ่ม 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ต่อมาวันที่ 2 มี.ค.2564 ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน ซึ่งกรมควบคุมโรคมีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส จากนั้นวันที่ 25 มี.ค.2564 ส่งสัญญาที่ลงนามโดยกรมควบคุมโรค ให้บริษัทแอสตร้าฯ ประเทศไทย บริษัทฯ ใช้เวลา 2 เดือนเซ็นกลับมาในวันที่ 4 พ.ค. ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย.2564 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ กรอบ 61 ล้านโดสตั้งแต่มิ.ย.-ธ.ค.64

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับกรณีมีการเผยแพร่จดหมายจากบริษัทแอสตร้าฯ เรื่องการส่งมอบวัคซีนให้ไทย ว่า เข้าใจว่าเป็นจดหมายที่บริษัทแอสตร้าฯ ส่งถึงรมว.สาธารณสุขลง วันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในรายละเอียดทางบริษัทได้ขอบคุณรมว.สาธารณสุข ในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตร้าฯ ทำให้บริษัทฯ สามารถผลิตวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งให้กับประเทศในอาเซียน และประเทศมัลดีฟ และไต้หวัน รวมเป็น 8 ประเทศ และระบุถึงสิ่งที่บริษัทฯ ได้ดำเดินการมาแล้ว เช่น การจัดส่งวัคซีนมาให้ไทยตั้งแต่ต้น โดยในภาพรวมของสัญญาจะกำหนดการส่งวัคซีนที่ผลิตได้จากโรงงานที่ผลิตในประเทศไทย ในเดือนมิ.ย.2564 แต่เขาก็หาวัคซีนให้ไทยล่วงหน้าในเดือนก.พ. เป็นต้นมา ทั้งนี้ประเทศไทยมีสั่งจองไปทั้งหมด 61 ล้านโดส มากที่สุด คิดเป็น1 ใน 3 ของยอดจองของประเทศในอาเซียน ทางบริษัทจึงยืนยันว่าอย่างน้อยจะต้องส่งวัคซีนให้ไทยประมาณ 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้

อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตดูการทำสัญญาจองที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ตอนนั้นการผลิตวัคซีนยังไม่ได้แม้แต่ขวดเดียวเพราะฉะนั้นในการทำสัญญาจองล่วงหน้าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุว่าเดือนไหนจะส่งให้วัคซีนจำนวนเท่าไหร่ เมื่อไหร่ แต่สัญญาระบุว่าการส่งแต่ละครั้งจะมีการเจรจากันรายเดือน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทแอสตร้าฯไปเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2564 ก่อนกำหนดส่งวัคซีนในเดือน มิ.ย.2564 โดยระบุว่าไทยจะขอวัคซีนในเดือนมิ.ย.2564 จำนวน 6 ล้านโดส เดือน ก.ค.-พ.ย.เดือนละ 10 ล้านโดส และธ.ค.2564 อีก 5 ล้านโดส ครบ 61 ล้านโดส ส่วนกรณีที่บริษัทแอสตร้าฯ จะส่งออกเท่าไหร่ไม่ได้แจ้งกับประเทศไทย เพียงแต่ระบุในสัญญาว่าการส่งออกนอกประเทศนั้นขอให้ประเทศไทยอำนวยความสะดวก ไม่ขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร

“อย่างไรก็ตามในการส่งมอบวัคซีนจะต้องขึ้น 1. ความต้องการใช้ของประเทศไทย 2. กำลังการผลิตของบริษัท ด้วยว่าได้มากน้อยแค่ไหนและจะส่งให้เราได้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นในสิ่งที่เราส่งแผนเข้าไปนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ตามที่ขอการส่งมอบจะต้องเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่าย” นพ.โอภาส กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าแอสตร้าฯ จะส่งให้ไทย 3 ล้านโดส นั้น ตนขอชี้แจงว่า รายละเอียดที่มีการระบุในหนังสือมีการอ้างอิงถึงการประชุมแบบไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2563 เมื่อเป็นการแบบไม่เป็นทางการก็เหมือนกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยในเดือนก.ย.2563 นั้นมีการสอบถามว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทย ซึ่งขณะนั้นข้อมูลที่มีคือฉีดได้ประมาณเดือนละ 3 ล้านโดส นี่คือที่มาของคำว่า 3 ล้านโดส มาจากไหน แต่จริงๆ กรมควบคุมโรคไม่ได้ระบุเป็นทางการว่าจะฉีดได้แค่ 3 ล้านโดส ซึ่งที่ผ่านมาเรามีตัวเลขประมาณการ และได้ทำหนังสือแจ้งทางแอสตร้าฯ ไปว่าขีดความสามารถในการฉีดได้ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือน หากมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทฯ ได้ทยอยส่งให้ประเทศไทยทุกสัปดาห์

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ที่มีการออกมาเปิดเผยว่าจะมีการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส ถึงเดือนพ.ค.2565 นั้นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือการผลิตของแอสตราฯ โดยโรงงานประเทศไทยเขาพยายามผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้กำลังการผลิตของเขาเท่าที่เราคำนวณเองแต่เขาไม่ได้แจ้งมาคือ ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้นถ้าคิด 1 ใน 3 ก็ส่งให้เราได้ 5 ล้านโดสเป็นอย่างต่ำ เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เราคำนวณ อย่างไรก็ตามการผลิตวัคซีนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยรวมทั้งเรื่องของชีววัตถุ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้บริษัทวัคซีนเขาระบุชัดว่าเท่าไหร่คงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามในสัญญาความต้องการของเรายังยืนว่า 61 ล้านโดส หากเป็นไปได้อยากจะให้ได้ภายในเดือนธ.ค. 2564 แต่อย่างไรก็ตามยังต้องเจรจากันเป็นรายเดือน เพราะฉะนั้นที่มีข่าวว่าจะส่งให้ถึงพ.ค.2565 นั้นก็ต้องเจรจากันต่อไป และทางแอสตราฯ เอง ไม่เคยระบุว่าจะส่งให้เราภายในพ.ค.2565 คงเป็นแค่การประมาณการณ์เอา

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สำหรับการเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอแลกเปลี่ยนวัคซีนมาใช้ในประเทศไทยก่อนนั้น ที่ผ่านมาก็มีการเจรจากับหลายประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตร้าฯ ให้ไทย และปลายเดือนนี้มีอีก 1 ประเทศ ที่ก่อนหน้านี้เรามีการเจรจาเพื่อขอแลกวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เขามีเหลือเนื่องจากจองไว้เยอะ และต่อมาเขามีการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนชนิดอื่น ไทยจึงเจรจาขอแลกวัคซีนนั้นมาใช้ก่อน ล่าสุดเขาก็จะเปลี่ยนมาเป็นการบริจาคให้เราแทน ดังนั้นขอชี้แจงว่าเรามีการเจรจาอยู่ตลอด แต่กรณีที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาไม่สำเร็จก็เลยยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ  ส่วนวัคซีนชนิดโปรตีน ซับยูนิต เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ทั่วโลกมีอยู่ 3 ประเทศ ที่กำลังพัฒนา คือโนวาแวค สหรัฐอเมริกา บริษัทที่ประเทศจีน และที่ประเทศคิวบา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งการจัดซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ และปกติในการเจรจาตรงนี้จะมีการเจาต่อในเรื่องของการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย.