ในยุคที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากยิ่งขึ้น ปัญหาการ “ไซเบอร์บูลลี่” หรือ การกลั่นเเกล้ง คุกคาม ระราน ทำให้ผู้อื่นเศร้าใจ ทุกข์ใจ ในโลกไซเบอร์ หรือด้วยเครื่องมือทางออนไลน์ ก็มีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

ที่ผ่านมาคนในสังคมอาจจะ “คุ้นชิน” มองว่า การไซเบอร์บูลลี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา เราไม่ถูกบูลลี่ก็ไม่ต้อง เดือดร้อน จึงเป็นทัศนคติที่ผิด ซึ่งการเพิกเฉยต่อปัญหา ส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้ การกลั่นเเกล้ง ทางออนไลน์มีความรุนเเรงมากขึ้น!!

ทุกคนในสังคมจึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะ คนที่ไป “ไซเบอร์บูลลี่” คนอื่นอาจจะมองเป็น “เรื่องสนุก” แต่กับผู้ที่ถูกกระทำคง “ไม่สนุก” ด้วย หลายๆคนอาจจะฝังใจ ทำให้ขาดความมั่นใจ ในตนเอง บางรายถึงกับกลายเป็คน “ซึมเศร้า” เเละถึงขั้นอยาก “ฆ่าตัวตาย” ก็มี

เรียกว่า “ไม่โดนกับตัว” ก็ไม่รู้หรอก? เรื่อง “ไซเบอร์บูลลี่” จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่สังคมจะเมินเฉยต่อไปได้!!

ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญรณรงค์ในเรื่องนี้ อย่างจริงจัง โดย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค  ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ของ ดีแทค บอกว่า ทางดีแทค ได้ทำงานรณรงค์เปิดประเด็นด้านไซเบอร์บูลลี่มากว่า 5 ปี มาในปีนี้มองว่าทุกคนในสังคมเริ่มตระหนักรู้ กับปัญหาบูลลี่แล้วว่ามีผลและร้ายแรงต่อเรายังไง สิ่งอยากทำ คือ รากของปัญหาเกิดจากใคร ซึ่งปัญหาเหล่านี้แก้คนเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นการทำงานทุกภาคส่วน จึงเกิดเป็นแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ขึ้นมา โดยเป็นการระดมไอเดีย ในการหยุดเรื่องไซเบอร์บูลลี่ จากคนรุ่นใหม่ หรือคน “เจนซี” ที่เข้าใจปัญหานี้จริงๆ และเสนอทางออกในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์

โดยพบว่า 3 ประเด็นหลักที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา (Body shaming) มีสัดส่วนสูงถึง 56% ตามด้วยการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 23% และความเท่าเทียมทางเพศ  (Gender Equality) 21%

ขณะที่ “น้องฟรองซ์-ธนวัฒน์ พรหมโชติ” ตัวแทนจาก เจนซี จาก สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย บอกว่า กลุ่มเด็กและเยาชนอาจเคยเป็นผู้กระทำ หรือ ถูกกระทำในเรื่อง ไซเบอร์บูลลี่มาก่อน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด และทัศนคติ ในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุในเรื่องนี้ ซึ่งในสภาเด็กฯ ก็มีการพูดถึงการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเด็กๆมองว่ามันคือการส่งต่อความรุนแรงส่วนหนึ่ง

ด้าน “ธานี ชัยวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ดำเนินงานวิจัย บอกว่า หากมองเรื่องไซเบอร์บูลลี่ รากฐานคือการจุดชนวนความรุนแรงที่แฝงอยู่ในหลายรูปแบบของสังคมไทย จึงอยากลงไปรับฟังปัญหาจากกลุ่มวัยรุ่น จะได้แนวทางแก้ปัญหาอย่างเข้าใจ

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเด็กไทยเกือบครึ่งเคยโดนไซเบอร์บูลลี่ และมีรูปเเบบพฤติกรรมการไซเบอร์ลี่ใหม่ ๆ ซึ่งจากความเห็นของคนออนไลน์รุ่นใหม่พบว่า สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยในมิติทางสังคม จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลในมิติทางสังคม ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมออนไลน์ใหม่

ธานี ชัยวัฒน์

โดยประเด็นการ “วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาผู้อื่น” คนออนไลน์ยุคใหม่ต้องการสร้างทัศนคติให้ทุกคนในสังคม ตระหนักและเคารพเรื่อง “ความแตกต่างหลากหลาย” หรือ Diversity ในร่างกายมนุษย์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและหน้าตาของผู้อื่น เนื่องจากเป็นการ “ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล”

 “ธานี ชัยวัฒน์” บอกต่อว่า การ “คุกคามทางเพศ”นั้น คนรุ่นใหม่มองว่าควรส่งเสริมสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศขณะเดียวกันพ่อแม่ ครูและผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่แสดงพฤติกรรมที่ส่อในเชิงคุกคามทางเพศ

ที่สำคัญควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษผู้ก่อเหตุคุกคามทางเพศในโรงเรียนและแนวทางในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ และควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมคาม และการล่วงละเมิดทางเพศให้มีความทันสมัย

สำหรับในประเด็น“ความเท่าเทียมทางเพศ” เด็กรุ่นใหม่มองว่า ควรมีสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับตวามหลากหลายทางเพศ ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้ทันสมัย

อย่างไรก็ตามในการรับมือกับปัญหา เยาวชนต้องให้กำลังใจตนเองมีความคิดเชิงบวก เคารพและยอมรับความเป็นตัวเอง มองว่าการไซเบอร์บูลลี่ทำอะไรเราไม่ได้ หากเราไม่รับมาใส่ใจ ขณะเดียวกันพ่อเเม่ต้องฟังปัญหา ที่เกิดขึ้นกับลูกอย่างใส่ใจ เป็นเพื่อนที่รับฟัง เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ในการแก้ไขปัญหาด้วย

ขณะที่หากมีเพื่อนที่โดนไซเบอร์บูลลี่มาปรึกษา ให้ดีใจว่าเราเป็นที่ไว้วางใจของเพื่อน ให้ช่วยรับฟัง โดยไม่เข้าไปตัดสินหรือเป็นส่วนหนึ่งของการบูลลี่ต่อ เราจะได้รับการยอมรับเป็นเซฟโซน ที่พึ่งทางใจให้เพื่อนๆได้

สำหรับในส่วนของหน่วยงานที่ดำเนินการป้องกันไซเบอร์บูลลี่นั้น ควรเร่งดำเนินการ ในการแก้ไขทัศนคติ ด้วยการเริ่มปลูกฝั่งความคิดที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กจนโต เคารพความแตกต่าง ให้เกียรติผู้อื่น เพื่อป้องกันการเกิดทัศนคติไม่ดี สนับสนุนการจัดการความรู้สึกและความคิดของตัวเองก่อนพิมพ์ข้อความ และใช้คำพูดให้กำลังใจและ เสริมแรงบวกให้กับคนอื่นๆ

นอกจากนี้ในส่วนของการลงโทษผู้กระทำผิดและเยียวยาผู้ถูกกระทำนั้น ต้องมีกฎหมายและบทลงโทษชัดเจน สำหรับผู้กระทำผิด มีการนำเรื่องวินัยมาปรับพฤติกรรมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีช่องทางการรับฟัง หรือให้คำปรึกษากับผู้ถูกกระทำ และเปิดกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้ผู้ถูกกระทำได้แบ่งบันประสบการณ์ที่ได้พบเจอ

ท้ายที่สุด ดีเเทคจะมีการนำข้อเสนอแนะของ เหล่า “เยาวรุ่น” ที่เรียกว่าเป็น “สัญญาใจ” ไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เเละสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น 

เพื่อให้ได้รับฟังเสียงเด็กรุ่นใหม่เเละนำไปแก้ปัญหาต่อไป!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์