เมื่อวันที่ 14 ม.ค2565 ที่โรงพยาบาลท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี นายดำรงรักษ อภิบาลสวัสดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส พร้อมด้วย นายเสกสรรค์ เพชรสุทธิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และ นายสยาม สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนส่งมอบ “ห้องหาดทิพย์” ให้กับ โรงพยาบาลท่าโรงช้าง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมี น.พ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นายวิสูตร อินทรกำเนิด นายอำเภอพุนพิน และ นพ.ฌอชนา วิเชียร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าโรงช้าง เป็นผู้รับมอบ

นายสยาม สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการพัฒาเพื่อความยั่งยืน บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พลตรีพัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือและสนับสนุนโรงพยาบาลท่าโรงช้างเพื่อการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเริ่มต้นตั้งแต่ การตั้งโรงพยาบาลสนาม ทางหาดทิพย์เอง ได้สนับสนุนและช่วยเหลือในหลายด้าน เช่น น้ำดื่มเพื่อการอุปโภคและบริโภค มอบของใช้ อาหารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน ใช้เฉพาะกิจในการรับ-ส่งผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อนำส่งโรงพยาบาลท่าโรงช้าง จนกว่าสถานการณ์เป็นปกติ และปรับปรุงพื้นที่ใต้ “อาคาร 24 ปีท่าโรงช้าง” ขนาดพื้นที่ 616 ตารางเมตร โดยใช้งบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ จำนวน 1.5 ล้านบาท ให้เป็นห้องอเนกประสงค์ทางการแพทย์ โดยได้ออกแบบให้ถูกต้องตามหลักอาชีวะอนามัย กล่าวคือ มีการวางระบบการระบายอากาศภายในให้มีการถ่ายเทได้ตลอดเวลาโดยติดตั้งพัดลมดูดอากาศ ซึ่งเป็นการดูดอากาศเข้า และระบายออกได้อย่างดี เพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนของอากาศภายในรวมถึงการปรับปรุงพื้นให้เป็นพื้น PU MF เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค และแบคทีเรีย เพื่อมอบให้โรงพยาบาลนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ทั้งในช่วงเวลาสภาวะปกติ และในสภาวะวิกฤติต่างๆ อย่างถาวรและยั่งยืน

ด้าน นพ.ฌอชนา วิเชียร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าโรงช้าง “ห้องหาดทิพย์” ได้รับการออกแบบให้ถูกต้องตามหลักอาชีวอนามัยและการเคลื่อนย้ายอากาศพลศาสตร์ ทำให้การเดินอากาศถ่ายเทในทิศทางเดียว ไม่ก่อให้มีการติดเชื้อ โดยโรงพยาบาลจะนำไปใช้งานได้ทั้งในช่วงเวลาสภาวะปกติ และ ในสภาวะวิกฤติต่างๆ คือ ส่วนที่ 1 ใช้เป็นหอผู้ป่วยโควิด-19 ที่สามารถรองรับได้ 60 เตียง ส่วนที่ 2 คือใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวในช่วงเกิดภัยพิบัติอุทกภัย ซึ่งสามารถรองรับได้ 20 ครัวเรือน และส่วนที่ 3 ในกรณีที่ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน จะใช้ห้องนี้สำหรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถรองรับได้ 1,000 รายต่อวัน ซึ่งทางโรงพยาบาลจะใช้และดูแลคนไข้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด