คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) เปิดเผยว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ.นี้ จะแข่งขันภายใต้ระบบปิด แบบบับเบิล ที่เคยใช้ในประเทศไทย ในการจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลก 3 รายการใหญ่ ติดต่อกัน 1 เดือน เมื่อต้นปี 2564 เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19

โดยได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ของไอโอซี ที่เดินทางถึงจีนแล้วว่า ทางเจ้าภาพ เตรียมมาตรการดังกล่าวไว้อย่างเข้มงวด โดยพื้นที่ของสนามแข่งขัน ที่พักของนักกีฬาและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันครั้งนี้จะอยู่ภายใต้ระบบปิด เพื่อความปลอดภัยทั้งนักกีฬา เจ้าหน้าที่จากทั่วโลกและประชาชนของจีน ตอนนี้ได้มีการวางรั้วกั้น รอบสนามกีฬารังนก ที่จะใช้ในพิธีเปิด วันที่ 4 ก.พ.นี้แล้ว ส่วนหมู่บ้านนักกีฬานั้นจะเริ่มทดสอบระบบก่อน ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. จากนั้นจะมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการ วันที่ 27 ม.ค.ต่อไป

ไอโอซีเมมเบอร์หญิงชาวไทย กล่าวต่อว่า การแข่งขันระบบปิดครั้งนี้จะเน้นให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่ทุกคน สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และต้องเป็นหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งทุกคน ต้องฉีดวัคซีนครบโด๊ส ก่อนเดินทางเข้าประเทศจีน 14 วัน และเมื่อเดินทางถึงจีน จะมีการตรวจหาเชื้อที่สนามบิน หากผลเป็นลบ จะให้ทุกคนอยู่ในระบบปิด อยู่ในพื้นที่ของที่พัก สนามฝึกซ้อม และสนามแข่งขัน จนถึงวันเดินทางกลับ และในช่วงการแข่งขัน จะมีการตรวจหาเชื้อทุกวัน

“หากนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ยังได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วนจะต้องถูกกักตัว เป็นเวลา 21 วัน ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันและหากมีการตรวจพบเชื้อ จะกันนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ออกมากักตัวในพื้นที่ที่เตรียมไว้ ในระหว่างนั้นหากไม่มีอาการใดๆ และต้องการฝึกซ้อมกีฬา เจ้าภาพก็ได้เตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้รองรับ หากอาการดีขึ้น ผลตรวจเป็นลบ ก็จะสามารถกลับเข้าสู่การแข่งขันได้” คุณหญิงปัทมา กล่าว

คุณหญิงปัทมา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิกของไอโอซี กล่าวอีกว่า ไอโอซี โดย คณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก ได้ต่อยอดงานกีฬา ศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการจัด โอลิมปิก อโกรา (Olympic Agora) งานแสดงผลงานภาพวาด ที่สะท้อนคุณค่าของกีฬาโอลิมปิก ที่มีต่อสังคม ผ่านทางสื่อดิจิทัล

โดยครั้งนี้จะประกอบด้วย 7 ผลงานหลัก จาก คริสโตเฟอร์ โคลแมน จากสหรัฐอเมริกา ชื่อภาพ “Pathway”, นีล เอ็กเคอร์สลีย์ จากสหราชอาณาจักร ชื่อภาพ “Frozen in Time”, คาเดอร์ โคลชิ จากแอลจีเรีย ชื่อภาพ “Ski Alpin”, โกะ มิน จากจีน ชื่อภาพ “Happy Fish for a Shared Future”, คาเมรอน มายเลอร์ จากสหรัฐอเมริกา ชื่อภาพ “Believe”, ยี่ เชียวโป จากจีน ชื่อภาพ “Bamboo” และ ลอเรนน์ รอสส์ จากสหรัฐอเมริกา ชื่อภาพ “Amalgamate” ซึ่งภาพทั้งหมดนี้ จะจัดแสดงทางเว็บไซต์ https://olympics.com/ รวมถึงทางทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม The Olympic Museum

“การบรรจบกันของกีฬาและวัฒนธรรม ถือเป็นการส่งสารเรื่องความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโลก ความไม่ย่อท้อและความหวัง ได้เป็นอย่างดี” คุณหญิงปัทมา กล่าวทิ้งท้าย