ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่มีความทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และสามารถให้บริการทางการศึกษา แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจ โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการสำนักงาน กศน. และผู้บริหารกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และผู้บริหารจากภาคีเครือข่ายร่วมพิธี

ว่าที่ ร.อ.ดร.อาศิส เชยกลิ่น ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต  หรือ ท้องฟ้าจำลองรังสิต ได้มีการติดตั้ง “เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล” ทดแทนเครื่องฉายดาวระบบเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน เพื่อให้ท้องฟ้าจำลองรังสิต เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่ทันสมัย สามารถรักษามาตรฐานการให้บริการเยาวชนและประชาชน ได้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมท้องฟ้าจำลองในต่างประเทศ

สำหรับจุดเด่นของ เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล คือ การใช้เทคโนโลยี Laser Projector ที่มีความละเอียดในการฉายภาพระดับ 4K คูณ 6 เพื่อให้การจำลองอวกาศ ระบบสุริยะจักรวาล ไปจนถึงพื้นผิวของดาวเคราะห์คมชัดและสมจริงเสมือนผู้ชมได้อยู่ท่ามกลางห้วงอวกาศ ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากศูนย์วิทยาศาสตร์ระดับโลกได้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบ Data2Dome เต็มอิ่มไปกับภาพยนตร์กว่า 3,000 เรื่องเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย สามารถรองรับผู้ชมได้กว่า 160 ที่นั่ง

พร้อมรับชม “นิทรรศการดวงดาวและเทคโนโลยีอวกาศ : Space Exhibition” โฉมใหม่ ที่จัดแสดงเรื่องราวการสำรวจอวกาศและแนวคิดในการอพยพสู่ดาวดวงใหม่ พร้อมจัดแสดงเครื่องแต่งกายของนักบินอวกาศการปลูกพืชเพื่อทำอาหาร ยาที่เหล่านักบินอวกาศใช้ รวมถึงการคมนาคมบนดาวอังคาร โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 9 ส่วน ได้แก่

ส่วนจัดแสดงที่ 1 Orientation เตรียมความพร้อมสู่ดาวดวงใหม่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการสร้างและปรับสภาพดวงดาวให้มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ทั้งบรรยากาศ อุณหภูมิ สภาพพื้นดิน และระบบนิเวศโดยนำเสนอผ่านการจำลองบรรยากาศเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ หุ่นจำลองดวงดาว หุ่นจำลองโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และหุ่นยนต์จำลองที่ถูกส่งไปก่อสร้าง รวมทั้งฉายสารคดีการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร

ส่วนจัดแสดงที่ 2 ที่อยู่อาศัย นำเสนอเรื่องราวสิ่งจำเป็นอันดับแรกของการขึ้นไปดาวอังคาร คือ การสร้าง
ที่อยู่อาศัยที่ทนต่อสภาวะต่าง ๆ ของดาวอังคาร เช่น รังสี อุณหภูมิ และพายุ เป็นต้น โดยนำเสนอผ่านหุ่นจำลองบ้าน MARSHA แบบ CROSS SECTION และหุ่นจำลองวัสดุหินบะซอลต์ พร้อมทั้งกราฟิกวิธีการสร้างที่อยู่อาศัยและระบบการป้องกันสภาวะต่าง ๆ บนดาวอังคาร

ส่วนจัดแสดงที่ 3 อาหาร นำเสนอเรื่องราวการสร้างอาหารบนดาวอังคารที่มีความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งการคิดค้นวิธีการผลิตอาหารภายใต้ข้อจำกัดและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยนำเสนอผ่านวัตถุจัดแสดงสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอวกาศในหลอดทดลอง (ไนโตรเจน โปรแตสเซียม ฟอสฟอรัส) และยังมีหุ่นจำลองฟาร์มและการควบคุมองค์ประกอบในการเติบโตของพืช           

ส่วนจัดแสดงที่ 4 ยา การย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ เชื้อจุลชีวะขนาดเล็กจะติดตามมาด้วย แนวทางการรักษาบนสภาวะของดาวอังคารนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการย้ายถิ่นฐานไปยังดาวอังคารของมนุษย์ โดยจะนำเสนอผ่านวิดีโอสารคดีทางการแพทย์บนอวกาศ หุ่นจำลองทางการแพทย์ และกราฟิก Lightbox แสดงตัวอย่างจุลชีวะบนสถานีอวกาศ

ส่วนจัดแสดงที่ 5 การคมนาคม นำเสนอเรื่องราวแนวทางการพัฒนายานพาหนะที่สามารถใช้ได้ในอวกาศ โดยนำเสนอผ่านหุ่นจำลองยานอวกาศแบบต่าง ๆ และสารคดีหลักการเคลื่อนที่ในสภาวะไร้น้ำหนัก

ส่วนจัดแสดงที่ 6 เครื่องนุ่งห่ม นำเสนอเรื่องราวการออกแบบเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจภายนอกที่อยู่อาศัยได้เหมือนกับอยู่บนโลก โดยนำเสนอผ่านการจำลองชุดนักบินอวกาศขนาดเท่าจริงและวัตถุจัดแสดงตัวอย่างผ้าที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตชุดนักบินอวกาศได้

ส่วนจัดแสดงที่ 7 พลังงาน นำเสนอเรื่องราวแนวทางในการพัฒนาพลังงานเพื่อใช้ในอวกาศ ผ่านหุ่นจำลองการควบคุมและการจ่ายพลังงาน และภาพยนตร์สารคดี แหล่งพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ภายในโลก

ส่วนจัดแสดงที่ 8 อากาศ นำเสนอเรื่องราวแนวทางในการพัฒนาอากาศทดแทนเพื่อใช้ในการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอวกาศ ผ่านหุ่นจำลองโรงงานผลิตอากาศและกราฟิกการสร้างและการหมุนเวียนอากาศ

ส่วนจัดแสดงที่ 9 ก้าวแรกสู่ดาวอังคาร เมื่อเตรียมความพร้อมแล้ว ต่อจากนี้จะเป็นการพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การอพยพมนุษย์เพื่อมาอาศัยบนดาวอังคาร ผ่านเทคนิค VR (Virtual-Reality Room) ห้องจัดแสดงเสมือนจริงที่จะทำให้ผู้ชมเสมือนอยู่บนดาวอังคาร

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต (ท้องฟ้าจำลองรังสิต) โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 8.30-16.30 น. ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0 25775456-9 และ Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต