นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้า ได้เดินหน้าในการกำหนดมาตรฐาน การใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติ  (ไบโอเมตริกซ์ เทคโนโลยี) หรือเทคโนโลยี ในการจำแนกลักษณะหรืออัตลักษณ์ทางกายภาพของบุคคล เช่น ใบหน้า ลายนิ้วมือ ลายม่านตา ลายเส้นเลือด ลายเซ็น และเสียงพูด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ต้องการนำเทคโนโลยีชีวมิติไปประยุกต์ใช้งาน ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำหรับภาคบริการประชาชนได้มีแนวทางในการใช้งานและการบริหารจัดการอัตลักษณ์บุคคลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมีความมั่นคงปลอดภัย โปร่งใส เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานและมีความน่าเชื่อถือ

“ในปัจจุบัน การทำธุรกรรมทางออนไลน์เริ่มมีการใช้ดิจิทัลไอดีผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ หรืออัตลักษณ์ทางกายภาพของบุคคล เช่น ใบหน้า ลายนิ้วมือ ลายม่านตา ฯลฯ มาใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกันมากขึ้น และเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น เอ็ตด้าจึงต้องเร่งทำมาตรฐาน ให้มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับแบบสากล”

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า โดยได้จัดทำทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติ สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน, (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการ ใช้งานเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้า สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยการทดสอบสมรรถนะการทำงาน เทคโนโลยีชีวมิติ  ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ดังกล่าว ไปเมื่อช่วงปลายปี 64 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเอ็ตด้าจะจัดกิจรรม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ทั้ง 3 ฉบับ เพิ่มเติม พร้อมตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เพื่อนำข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ทั้ง 3 ฉบับให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้องและครบถ้วนมากที่สุด ก่อนนำร่างเสนอต่อคณะทำงานจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีชีวมิติเพื่อพิจารณาต่อไป.