สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ว่าจากกรณีกระทรวงพลังงานของอินโดนีเซียประกาศการระงับส่งออกถ่านหินเป็นการชั่วคราว สำหรับเดือน ม.ค. เริ่มตั้งแต่ช่วงปีใหม่ เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่า ปริมาณถ่านหินที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศนั้น


นายคานาซึงิ เคนจิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงจาการ์ตา ยื่นหนังสือต่อนายอารีฟิน ทาสริฟ รมว.พลังงานของอินโดนีเซีย ร้องให้ยุติมาตรการดังกล่าว โดยให้เหตผุลว่า มาตรการดังกล่าว “ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน” ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศ


ขณะเดียวกัน เคนจิกล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเลือกซื้อถ่านหินเกรดสูงจากอินโดนีเซีย ซึ่งมีราคาแพงกว่าถ่านหินที่อินโดนีเซียใช้งานภายในประเทศ ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมองว่า อินโดนีเซียไม่สามารถใช้เรื่องอุปทานที่ไม่เพียงพอ “เป็นข้ออ้าง” เพื่อระงับการส่งออกได้ โดยก่อนมีมาตรการระงับ ญี่ปุ่นนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซีย เดือนละประมาณ 2 ล้านตัน


ในอีกด้านหนึ่ง นายยอ ฮัน-คู รมว.การค้าของเกาหลีใต้ เรียกร้อง “ความร่วมมือ” จากอินโดนีเซีย ในการกลับมาส่งออกถ่านหินอีกครั้งโดยเร็วที่สุด แม้ก่อนหน้านั้น รัฐบาลเกาหลีใต้คาดการณ์ “ผลกระทบในวงจำกัด”


ทั้งนี้ มาตรการระงับการส่งออกถ่านหินของอินโดนีเซีย เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขที่เรียกว่า “ข้อบังคับตลาดภายในประเทศ” ที่ระบุว่า ผู้ผลิตถ่านหินภายในอินโดนีเซียต้องจัดสรรผลผลิต 25% ต่อปี ให้แก่รัฐวิสาหกิจด้านการผลิตไฟฟ้า ในราคาตันละไม่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,325.70 บาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาปกติในตลาดหลายเท่าตัว นับจากนี้ การกำหนดสัดส่วนการส่งออกถ่านหิน จะขึ้นอยู่กับการใช้ถ่านหินและกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าของรัฐ และบริษัทผลิตไฟฟ้าที่เป็นพันธมิตร


ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินชนิดเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกประมาณ 400 ล้านตัน เมื่อปี 2563 ส่วนลูกค้ารายใหญ่ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES