วันขึ้นปีใหม่นั้น จัดเป็นมงคลสมัยที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเวลาเริ่มต้นแห่งปี ซึ่งตามหลักสากลถือกันว่า “การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับมีความสำเร็จและความสุขสวัสดีไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเติมเต็มความดีงามให้สมบูรณ์เองต่อไป” เพราะฉะนั้น เมื่อโอกาสมงคลวิถีปีใหม่เช่นนี้เวียนมาถึงทุกคนต่างมีความปีติยินดี ได้ถือเป็นโอกาสมงคลพิเศษ ที่จะได้แสดงออกถึงความมีน้ำใจไมตรี ความปรารถนาดี แม้ตนเองจะไม่มีอำนาจวาสนาบารมีหรือความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ที่จะดลบันดาลความดีงามให้แก่ใครได้

ในศุภมงคลขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2565 เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในฐานะประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เมตตามอบ “สารัตถธรรม” เพื่อการปฏิบัติ เป็น “พรธรรม” อันอุดม เป็นของขวัญปีใหม่ แก่ทุกท่าน 5 ประการ คือ 1.ความไม่ประมาท 2.ความอดกลั้น อดทน 3.ความสุจริต และประหยัด 4.ความเสียสละ 5.ความสามัคคี ซึ่ง “พรมงคลธรรม 5 ประการ” นี้ เป็น สุดยอดของธรรมะในพระพุทธศาสนา

ประการที่ 1 ความไม่ประมาท เป็นบรมธรรม ดังพระพุทธศาสนีบทที่ว่า “อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความไม่ประมาทเป็นทางอมตะ เพราะ “ปมาโท มจฺจุโน ปทํ” ความประมาท เป็นหนทางแห่งความตาย” บัณฑิตกล่าวว่า ความคะนองคือความพินาศ ความประมาทคือความตาย ความประมาททำให้ชีวิตตายก่อนตาย ตายเหมือนตาลยอดด้วน เราจึงไม่ควรประมาท เช่น ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในการงาน ไม่ประมาทในเวลา ไม่ประมาทในดำเนินชีวิต ในสถานปัจจุบัน อย่าประมาทระวังจะเสียคนใน 2 คราว คือ 1.ในคราวที่สุขที่สุดในชีวิต และ 2.ในคราวที่ทุกข์ที่สุดในชีวิต ซึ่งใน 2 คราวดังกล่าวนั้น คนเรามักจะขาดสติ ขาดปัญญา เป็นเวลาแห่งภยันตรายร้ายแรงที่สุดของชีวิต

ประการที่ 2 ความอดกลั้น ความอดทน เป็นความงามของชีวิต ดังพระพุทธพจน์บทที่ว่า “ขนฺติ ธีรสฺส ลงฺกาโร ความอดทนเป็นความงามของนักปราชญ์” เป็นคำสอนที่เราท่านทั้งหลายควรนำมาพิจารณาในการดำเนินชีวิต เพราะความอดทนเป็นคุณธรรมพื้นฐานของมนุษย์ เพราะความชอบกับความชัง ใน 2 อย่างนั้น เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อดในเวลาที่ควรอด หรือไม่ทนในเวลาที่ควรทน ความเสียหายก็จะเกิดตามมา ธรรมดานกที่ฉลาดว่องไว เข้าใจหลบหลีก ย่อมปลอดจากศัตรูฉันใด ผู้คนเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้ารู้จักอดกลั้น อดทน ก็ย่อมพ้นภัยอันตรายได้ทุกเมื่อ บุคคลบางคน น้ำอดน้ำทนไม่ดี เป็นคนเปราะ อยากจะร่ำรวย แต่กลัวความลำบาก กลัวหนาวกลัวร้อน ทำอะไรไม่จริงจัง จัดเป็นคนอาภัพตกอับตลอดชาติ แม้มาดว่า อยู่ชมโลกมาตั้งแต่หนุ่มคุ้มแก่ ก็ยังไม่สิ้นความจน เพราะความเกียจคร้านนานไปจักไร้ทรัพย์ จะอาภัพยากไร้หลายสถาน ดังพระพุทธศาสนีที่ว่า “ขนฺติ ตโป ตปสฺสิโน ความอดทนเป็นตบะของผู้พากเพียร” จะทำอะไรก็ตามไม่ควรขาดความอดทน อดกลั้น และอดออม

ประการที่ 3 ความสุจริต นับว่าเป็นอัญมณีของชีวิตเป็นพื้นฐานของชีวิตที่มั่นคง และมีหลักคิดให้ชีวิตสุจริตที่ว่า “ธมฺมํ จเร สุจริตํ น ตํ ทุจฺจริตํ จเร” พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ละเว้นการประพฤติทุจริต หมายความว่า จะทำความดีนั้น ต้องทำให้ดี ให้ถึงดี ให้ถูกดี ทำดีต่อเนื่อง และสุจริต ทั้งกาย วาจา และจิตใจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมกำลังประสบปัญหาในด้านเศรษฐกิจ ก็จะต้องดำเนินชีวิตในการแสวงหา ด้วยความสุจริต มีความประหยัด และการใช้จ่าย จึงจะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันอย่างปลอดภัย

ประการที่ 4 ความเสียสละ ตรงกับคำสอนที่ว่า “จาคะ” หมายถึง เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน เกื้อกูลกัน รวมถึงการให้อภัย ยกโทษแก่กัน อันเป็นเหตุให้สุขสวัสดี ความเสียสละนั้น มีลักษณะเป็น 2 ประการ คือ เสียสละวัตถุ 1 เสียสละอารมณ์ 1 การเสียสละวัตถุ หมายถึง การสละทั้งข้างนอก และข้างใน สละภายนอก คือ วัตถุสิ่งของ สละข้างใน คือ สละกิเลส ความโลภ ไม่ตระหนี่หวงแหน ไม่หวังผลตอบแทน กล่าวคือ ไม่มีความโลภเข้าครอบงำจิตใจ ไม่คิดจะเอา ดังวลีที่ว่า “ความคิดที่จะให้นั้นจะเบา ส่วนความคิดจะเอานั้นหนัก” การเสียสละอารมณ์ หมายถึง การปลดเปลื้องอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เพราะความจริงสังคมมนุษย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ย่อมมีจริตอัธยาศัยแตกต่างกัน หากมากคนเท่าไร ยิ่งมากจริตมากอัธยาศัย แตกต่างกันไป ย่อมมีกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา อนึ่ง การที่สละอารมณ์ได้ดีจำต้องคุณธรรม คือ “ทมะ” ความรู้จักข่มใจ ความรู้จักหยุดใจ ประคับประคองใจ ไม่ให้ถลำไปสู่ความชั่ว ความเสียหาย ยับยั้งชั่งใจไว้ได้ก่อนจะสายเกินแก้

และ ประการที่ 5 คือ ความสามัคคี มีคุณมหาศาล ความสามัคคีมีลักษณะ 2 ประการ คือ กายสามัคคี และ จิตสามัคคี ธรรมะทั้งสองฝ่ายนี้ย่อมเนื่องถึงกัน กายสามัคคีนั้นจะเกิดมีได้ ย่อมเนื่องถึงใจ ใจจะสามัคคีได้ ก็ย่อมมีกายเป็นที่รองรับเพราะความสามัคคีที่เป็นไปในแนวทางที่ชอบ ประกอบด้วยธรรม จะนำมาซึ่งความสุข ความสำราญ ตามหลักสาราณียธรรมที่ว่า “มากทิฐิมานะ หมู่คณะจะแตกร้าว ถอยกันคนละก้าว จะยืนยาวสามัคคี ถ้าทำดีเพื่อตน จะยืนชนม์เพียงชาตินี้ ทำดีเพื่อชาติพลี ชื่อจะอยู่คู่ไตรภพ ความสุขจะเกิดได้ เพราะจิตใสใจสงบ ใจขุ่นกิเลสขบ ย่อมไร้สุขทุกข์ทวี ความสงบจะเกิดได้ เพราะต่างใฝ่สามัคคี หากแข่งแย่งกันดี ต่างดีหดหมดศรีศักดิ์ สามัคคีจะเกิดได้ เพราะรักใสใจสมัคร สามัคคีที่ไร้รัก จะแตกหักไม่นิรันดร์ ความรักจะเกิดได้ เพราะมีใจเอื้อเฟื้อกัน รักยาวต้องแบ่งปัน ผลคือสุขา สามัคคีฯ”

สมดังคำพระท่านสอนว่า “ผู้ปรารถนาความสุข ความสำเร็จ ควรมีธรรมะหลักใจ 4 ประการ คือ 1.ต้องขยันทำงาน 2.มีความไม่ประมาท 3.ฉลาดในการบริหารชีวิต 4.เลี้ยงชีพแต่พอดี ย่อมรักษาทรัพย์สมบัติให้คงอยู่และเพิ่มทวีได้”

โชคดีปีขาล สำราญสุข โชคดีปีเสือ อย่าเบื่อทุกข์ โชคดีปีนี้ ใช้สติให้มากกว่าสตางค์สาธุดังๆ สติ สตางค์ สตรอง เยอะๆ นะโยม…

……………………………………………….

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี