ผลพ่วงจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อหลายๆธุรกิจในวงกว้าง ใครที่ “สายป่านไม่ยาว”  มีเงินทุนไม่มากเป็นอันต้อง “เก็บกระเป๋า”เลิกกิจการกลับบ้านไปก่อน

อย่างไรก็ตามในอีกมุมก็ยังมีธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตได้ในภาวะ “วิกฤติ” แบบนี้ ซึ่งก็คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากการประกาศปิดล็อกดาวน์ ของภาครัฐ ทำให้คนไม่สามารถออกไปซื้อสินค้าได้ แบบปกติ รวมถึงการกลัวติดเชื้อโควิด-19 จึงหันมาสั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้วิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลให้คนตกงานมากขึ้นจากธุรกิจที่ต้องปิดตัวลง หรือบางคน ไม่ตกงาน แต่ถุกลดเงินเดือน กลุ่มคนเหล่านี้จึงหันมาขายของออนไลน์กันมาก เพื่อให้เป็นรายได้มาจุนเจือตนเองและ ครอบครัวให้ “พยุงชีวิต”ให้อยู่ได้ในยามยากลำบากแบบนี้

โดยผู้ที่อยู่ในแวดลง อีคอมเมิร์ซ อย่าง “ชนนันท์ ปัญจทรัพย์”  ผู้จัดการประจำประเทศไทย   บริษัท ช๊อปไลน์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการระบบจัดร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซและโซเซียลคอมเมิร์ซแบบครบวงจร บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่กระตุ้นผู้บริโภคคนไทยก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยในปี 63 ที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 30% และในปี  64 นี้ คาดว่าจะเติบโตอีก 15-20% 

ชนนันท์ ปัญจทรัพย์

สำหรับเทรนด์ที่มาแรงคือ โซเซียล คอมเมิร์ซ (Social commerce)  ที่คนไทยนิยมซื้อและขายสินค้า ผ่านโซเซียลมากขึ้น แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก  58% รองลงมาเป็น ไลน์ 35%  อินสตาแกรม 21% และ ทวิตเตอร์ 11% ซึ่งลูกค้าประมาณ 69% จะเลือกซื้อสินค้าผ่าน เฟซบุ๊กจากเพจต่าง ๆ และมียอดการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,000-3,000 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามกลุ่มผู้ซื้อพบว่า  กล่มผู้หญิงจะสนใจ ความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย กลุ่มลูกค้าผู้ชายจะสนใจแกดเจ็ท( Gadget) และของตกแต่งบ้าน และมีการใช้เวลาผ่าน โซเซียล คอมเมิร์ซประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน

ผู้บริหารของ ช๊อปไลน์ ยังบอกอีกว่า  ในส่วนของ การไลฟ์ขายสินค้า หรือ ไลฟ์ คอมเมิร์ซ( Live commerce) ในประเทศไทยก็ได้รับความนิยมสูงมาก โดย มีอัตรการเติบโตสูง ถึง 300% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียเติบโต 160% เท่านั้น  ซึ่งคนไทยจะสนใจพูดคุยและไลฟ์ ในสัดส่วนสูงถึง 56% เลยทีเดียว เพราะสอดคล้องกับลูกค้าคนไทย ที่อยากเข้ามาดู ได้รับความสนุกสนานและมีส่วนร่วมกับผู้ขายสินค้า

“แนวโน้มการจัดทำ ไลฟ์ คอมเมิร์ซ ในประเทศไทยก็เติบโตสูงมาก มีจำนวนการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้น 300% และช่วงเวลาที่นิยมไลฟ์ก็ คือ 19.00 น. หรือ 1 ทุ่ม และจำนวนคำสั่งซื้อจากการไลฟ์ก็เติบโตเพิ่มขึ้น 210% จำนวนความคิดเห็นเพิ่มขึ้น 283% โดยช่วงเวลาที่จะมีออเดอร์ หรือคำสั่งซื้อสูง ก็ คือในวันจันทร์ ช่วงเวลา 20.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเลิกงานและวันเสาร์ อาทิตย์ คนไทยส่วนใหญ่ใช้ เวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ เมื่อถึงวันจันทร์จึงเข้ามาเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้เป็นช่วงเวลาเหมาะ ที่ผู้ขาย หรือร้านค้าต่างๆจะทำ แคมเปญส่งเสริมการขาย  โดยหมวดหมู่สินค้ายอดนิยมจะเป็น ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ 37% เครื่องแต่งกาย 28% และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 24%”

ภาพ pixabay.com

อย่างไรก็ตามสำหรับเมื่อดูผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแล้วยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 160% จำนวนคำสั่งซื้อเติบโต 180% จำนวนการไลฟ์ หรือถ่ายทอดสดเติบโต 70% และจำนวนความคิดเห็นเติบโตเพิ่มขึ้น 125% โดยจะมีออเดอร์สูงสุดในวันพุธ และมีการสั่งซื้อสูงสุดช่วง เวลา 22.00 น.

ซึ่งในส่วนของช๊อปไลน์ ครึ่งปีแรกมีฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการโซลูชั่นต่างๆ เติบโต 10-15%  ส่วนครึ่งปีหลังก็คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 30-40% มาจากการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้ลูกค้าใช้งาน

จากผลสำรวจดังกล่าวของ “ช๊อปไลน์” จึงชี้ให้เห็นว่า หากเราอยากประสบความสำรวจในการขายจองออนไลน์ การใช้โซเชียล มีเดีย รวมถึงการใช้กลยุทธ์ “ไลฟ์เรียกแขก” มาซื้อสินค้าจึงขาดไม่ได้ ยิ่งใครมีวิธีการไลฟ์ขายของ ที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อได้มาก ก็มีโอกาสที่ลูกค้า จะ “กด F” หรือ “ CF” คอนเฟิร์มซื้อสินค้าแบบรัวๆๆ

ด้าน “เลอทัด ศุภดิลก” หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย  ก็เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารในวงการอีเมิร์ซ ก็ระบุว่า สถานการณ์ โควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ และมองหาโอกาสเพื่อ เปลี่ยนแปลงรูปแบบ การทำธุรกิจ ซึ่งทางไลน์ ช้อปปิ้ง (LINE SHOPPING) มองว่า  โซเซียล คอมเมิร์ซ คือ โอกาสที่ช่วยให้ธุรกิจ ไม่ตันและไม่ตาย และยังช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ขายรายย่อยใช้รับมือช่วงล็อกดาวน์ได้ 

เลอทัด ศุภดิลก

โดยการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักช้อปกับผู้ขาย ซึ่งการสร้าง ประสบการณ์ที่ดี (Engagement) ถือเป็นเสน่ห์ของ โซเชียล คอมเมิร์ซที่ทำให้นักช้อปและผู้ขายบนแพลตฟอร์มมีพื้นที่ ในการสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในระยะยาว

 “ปัจจุบันโซเชียลคอมเมิร์ซมีสัดส่วนคิดเป็น 60% ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2.7 แสนล้านบาทในปีนี้ คาดว่าเติบโตเพิ่มขึ้น 10-15% ซึ่งโซเซียลคอมเมิร์ซ คนไทยมีความคุ้นชิน สามารถให้ผู้ขายและ ผู้ซื้อพูดคุย หรือแชท สอบถามรายละเอียดแบบเรียลไทม์ จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ” 

อย่างไรก็ตามทาง ไลน์ ช้อปปิ้ง ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของไลน์ของคนไทย โดย 5 กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุด ได้แก่ แฟชั่น สุขภาพและความงาม อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน และไอทีแกดเจ็ท ซึ่งยอดขายสินค้าสุขภาพและความงามในช่วงโควิดระลอกใหม่พุ่งสูงถึง 35% ทีเดียว

ส่วนช่วงเวลาที่คนนิยมซื้อของมากที่สุด คือเวลา 12:00 น.และ 20:00 น. นักช้อป 80% ชำระเงินโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร และ 20% ชำระผ่านเครดิตการ์ด และ Rabbit LINE Pay 

ขณะเดียวกัน ไลน์ ช้อปปิ้ง ก็เติบโตขึ้น 200% ยอดสมัครเปิดร้านโต 7 เท่า และสร้างยอดขายรวมเติบโต 272% รายได้เฉลี่ยต่อร้านค้าเดือนละ 150,000 – 500,000 บาท

ทั้งหมด คือแนวโน้มของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของไทย ที่ดูเหมือนว่าจะพุ่งแรงกว่าธุรกิจอื่นๆในช่วงนี้ จึงถือเป็นอีกช่องทางของคนที่อยากหารายได้เพิ่มในภาวะวิกฤติแบบนี้!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์