มีโอกาสได้รับข้อความต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการแก้ปัญหาวัคซีนโควิด-19 รวมถึงแนวทางการป้องกันต่างๆมากมายจากหลายแหล่งข่าวที่รู้จักกัน มีทั้งที่ยังคงรับราชการอยู่และเกษียณอายุราชการไปแล้ว … มีผสมกันมาหลากหลายความคิดเห็น แต่สรุปรวมๆ ได้ว่า ทั้งหมดเห็นตรงกัน ใครมีโอกาสได้รับการฉีดวัคซีนควรทำทันที ไม่ควรเลือกเพราะโอกาสในการเลือกริบหรี่ลงทุกขณะ และการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลเชื้อ ก็คือต้องอยู่ห่างจากพื้นที่เสี่ยง บุคคลเสี่ยง และดูแลรักษาตัวเองให้ดีที่สุด ( กินอิ่มนอนหลับและสังเกตอาการตัวเองให้มากที่สุด)

ขอหยิบยกข้อคิดเห็นของ อดีต ผบช.น. หรือ “น.1” ที่ปัจจุบันทำหน้าที่ “สมาชิกวุฒิสภา” ที่กำลังเป็นประเด็นต่อเนื่องในสังคมการเมืองยุคปัจจุบันนี้ “พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร” เจ้าของฉายา “น.1บึ่งทุกที”  หรือชื่อเล่นในยุคนั้น “แป๊ะ” และมีสโลแกนการทำงานที่ชัดเจน คือ “รุก รบ จบเร็ว ทำดี ทำได้ ทำเลย” ซึ่งบางครั้งลูกน้องก็ชื่นชอบเพราะได้ทำงานจริงจัง แต่บางครั้งลูกน้องก็หาช่องทางหลบเลี่ยงเพราะต้องเผชิญปัญหามากมายหลายด้าน

“ส.ว.แป๊ะ” พล.ต.ท.ศานิตย์ พูดถึงเรื่องการป้องกันโควิดไว้ว่า หากประเทศเรานั้น “เลือดยังไหลไม่หยุด” เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดบ้านเราเพิ่มและตายมากขึ้นทุกวันแล้วไม่สบายใจ” ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำอย่างไรจึงจะลดตัวเลขลงได้? และคิดต่อไปอีกว่า ทำไมเรื่อง “วัคซีน” คนจึงบูลลี่กันจังว่า ยี่ห้อนั้นดีกว่า บางคนกลัวตายไม่กล้าฉีด บางคนอยากฉีดแต่ไม่ได้ฉีด  กลายเป็นประเด็นทางการเมืองโจมตีกันไม่จบสิ้น…เหนื่อยใจแทน!!

ส่วนตัวเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาโดยระดมฉีดวัคซีนนั้น ก็ต้องทำ แต่ภายใต้เวลาอันจำกัดนี้มันคงไม่ง่ายเพราะ “วัคซีน” เป็นของหายากทั่วโลกแย่งกันซื้อ ผลิตไม่ทัน การควบคุมการฉีดให้เพียงพอกับความต้องการจึงยาก … หนทางที่ดีที่สุดและควบคุมได้ง่ายกว่าน่าจะเน้นการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเป็นหลักก่อนจะดีที่สุด เพราะมันเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด และปลอดภัยที่สุด กล่าวคือ

1.ประชาชนทุกคนต้องไม่ประมาท ต้องป้องกันตนเองให้ดี (อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ) การพึ่งตนเองนั้นน่าจะดีกว่าพึ่งวัคซีนเสียอีก เพราะนอกจากมีค่าใช้จ่ายน้อยแล้ว ตัววัคซีนเองก็ยังไม่มีใครรับประกันว่า ฉีดแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก ตัวอย่างของการป้องกันตนเองง่ายๆ เช่น ไม่ออกนอกบ้าน (อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ) แต่ถ้าจำเป็นต้องออกก็ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างทางสังคม ป้องกันมิให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่อีก รวมทั้งการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยทุกครั้ง

2.หน่วยงานท้องถิ่น ส่วนกลาง ต้องร่วมมือร่วมแรงกับภาคประชาชนในพื้นที่ตรวจสอบเชิงรุกเพื่อนำผู้ติดเชื้อแยกออกมารักษาโดยเร็ว

3.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่แนวชายแดน ต้องจริงจังและต่อเนื่องในการป้องกัน ต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (ลาว, กัมพูชา, เมียนมา) ต้องป้องกันไม่ให้หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานโดยผิดกฎหมาย นำเชื้อมาแพร่อีกต่อไป

4.เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกโดยเฉพาะการป้องกันตามข้อ 2 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างการรับรู้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เพราะ “การประชาสัมพันธ์ที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” แต่ที่ผ่านมาบ้านเรา มักมีปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้เพราะผู้รับผิดชอบมักอ้างว่าการประชาสัมพันธ์ดีแล้วๆๆ แต่ผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม การประชาสัมพันธ์ก็เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ที่ผ่านมามันบ่งบอกชัดอยู่แล้วว่าไม่ดี ก็แปลว่าการป้องกันยังไม่ดี การประชาสัมพันธ์ที่อ้างมานั้นมันยังไม่ได้ผล

5.การใช้มาตรการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรการสุดท้ายในการดำเนินคดีกับผู้ที่จงใจฝ่าฝืนอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของประชาชนที่กระทำผิด หรือเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปมีส่วนร่วม ต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

“ทำได้เยี่ยงนี้ผมเชื่อว่า ปัญหาอื่นๆ รวมทั้งวัคซีนที่กังวลกันอยู่แทบจะหมดไปเลย ซึ่งเมื่อเราควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ภายในเวลาไม่นานก็จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยธรรมชาติ (ระยะฟักตัว 14-21 วัน) โควิด-19 ก็จะค่อยๆ หมดไปจากแผ่นดินไทย ถือเป็นการช่วยตนเองและช่วยชาติได้ดีอีกทางหนึ่งครับ”

ที่เล่ามานี้ฟังดูอาจจะมองว่า “พูดง่าย ทำยาก” แต่ผมกลับมองว่ามัน “ไม่ยาก” หรอก ที่สำคัญคือ ผู้นำระดับปฏิบัติ (น่าจะไม่พ้นท่าน ผู้ว่าราชการจังหวัด) จะมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อนี้ ได้มากน้อยแค่ไหน ลองดูนะมันไม่มีอะไรเสีย “มีแต่ได้กับได้” ครับ.

#ไม่แพร่ก็ไม่เพิ่ม #ช่วยตนเอง=ช่วยชาติ #ใจพร้อมไม่ยอมป่วย  #ทุกคนต้องช่วยกัน #ประเทศไทยต้องชนะ