ผ่านไปแล้วสำหรับปี 2564 ที่เต็มไปด้วยความร้อนแรงทางการเมืองทั้งในและนอกสภา และความร้อนแรงที่เกิดขึ้นอาจส่งต่อมาถึงปี 2565 วันนี้ “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” จึงพาผู้อ่านมาสแกนความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบ่งชี้ให้เห็นถึงเค้าลางการเมืองหลังจากนี้

พปชร.-‘รอยรักรอยร้าว’

เริ่มตั้งแต่ พลังประชารัฐ ซึ่งในปี 65 ยังคงมีสัญญาณ “รอยร้าวบนความขัดแย้ง” โดยในรอบปี 64 ต้องถือว่า บรรยากาศภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้า ขั้นโคม่า อาการร่อแร่ เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปีวันที่ 18 มิ.ย. 64 เกิดการ โค่นอำนาจ เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคแบบฟ้าแลบ จาก “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท กลุ่มสามมิตร มาเป็น ..ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พร้อมอุ้ม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ขึ้นแท่นเหรัญญิกพรรค ผงาดกุมทั้งอำนาจและเงิน โดยมี “บิ๊กป้อม” พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค หนุนอยู่เบื้องหลัง

แต่จุดแตกหักเกิดในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดือน ก.ย. 64 เกิดเกมโค่นอำนาจบัลลังก์ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่แผนแตกเสียก่อน จนนำสู่การปลดฟ้าผ่า ทั้ง “ธรรมนัส–นฤมล” ต้องหลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี จนเกิดขบวนการเขย่าสัมพันธ์ “3 ป.” ร้าวฉาน ท่ามกลางกระแสตั้งพรรคใหม่ ของ “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ควบคู่กับการส่งคนของ “บิ๊กตู่” เข้ามาบริหารจัดการในพรรค และแยกกลุ่มรัฐมนตรีออกเป็นก๊วนอย่างชัดเจน แต่ยังไม่จบ เมื่อ “6 รมต.” ที่เข้าไปเป็นมือไม้ให้ “บิ๊กตู่” ในพรรค ตามมาด้วยการปรับโครงสร้าง หวังเด้ง “ธรรมนัส” พ้นเลขา พปชร. เพราะหมดความไว้วางใจเป็นหอกข้างแคร่แต่ก็ไม่สำเร็จ

โดยสิ่งที่ต้องจับตาคือรอยร้าวข้ามปีที่จะขยายแผลกว้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของ “3 .” ต่อการบริหารงานในพรรค รวมถึงไฮไลต์เตรียมความพร้อมเลือกตั้ง ชูแคมเปญ เลือกตั้ง “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯ อีกครั้งจะราบรื่นหรือไม่??

พท.-“เลือดเก่าแลนด์สไลด์”

ขณะที่สถานการณ์ของ พรรคเพื่อไทย เริ่มเห็นถึงสัญญาณ “คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า” เพราะในปี 65 พรรคเพื่อไทย เปรียบเสมือนเป็นปลากระดี่ได้น้ำ ด้วยกติกาใหม่ ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เอื้อต่อพรรคใหญ่ พท.จึงปักหมุดมุ่งสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ประกาศว่า “พรรคเพื่อไทยต้องได้ส.. 253 คน ถึงจะปิดประตู ส.. 250 คนในสภาได้”

ท่ามกลางอดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่เก๋าเกม ปรี่หวนคืนกลับรังจนหัวกระไดที่ทำการพรรคไม่เคยแห้ง ขณะเดียวกันคนภายในพรรคเพื่อไทยหลายคนก็มีท่าทีย้ายไปพรรคของอดีตสมาชิกอย่าง “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับพรรคไทยสร้างไทย แต่คนแดนไกลอย่าง “โทนี่” และผู้ใหญ่ภายในพรรคก็โนสนโนแคร์ เพราะมี ส.ส. จ่อคิวลงเสียบแทนอยู่ในมืออีกเพียบ

เรียกได้ว่าปีหน้าการเมืองจะดุเดือดทั้งในพรรคและนอกพรรค เตรียมแผนรับแลนด์สไลด์การเมือง

กก.- “มรสุมรุมเร้า”

ประยุทธ์” หัวหอกขั้วขวา - “ก้าวไกล” เบอร์หนึ่งขั้วซ้าย เปิดศึกชิงอำนาจ

ส่วนรูปการณ์ของ พรรคก้าวไกล ยังคงเต็มไปด้วย “มรสุมลูกใหม่ปี 65” ถือเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ได้โดดเด่นในสภาผู้แทนราษฎร หรือบางครั้งก็เกือบจะเรียกได้ว่าโดดเดี่ยว งานนี้ “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่รับไม้ต่อหอบลูกพรรคสานต่อภารกิจจาก พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบไป ตลอดปี 64 ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลก็ยังคงเจอกับแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างไม่ยั้ง โดยเฉพาะเลือดที่ส่อไหลไม่หยุด หลังการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 มี ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งไม่เอาด้วยและส่อเป็นงูเห่า รอจังหวะสละเรือย้ายพรรคเมื่อสถานการณ์การเมืองสุกงอมหรือมีการเลือกตั้ง

เมื่อมองไปถึงการเมืองในปี 65 พรรคก้าวไกลต้องลุ้นหนักว่าจะเดินซ้ำรอย พรรคอนาคตใหม่ หรือไม่ หลังมีนักร้องยื่นยุบพรรคจากปมการเสนอแก้มาตรา 112 และฐานสนับสนุนการชุมนุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ขณะที่แกนนำพรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่หวาดหวั่นในเรื่องนี้ เตรียมสู้ทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา ระหว่างนี้ก็ขอทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มที่ พร้อมปรับลุคเข้าถึงชาวบ้านให้เห็นตัวตนกันจริง ๆ ให้มากขึ้น และพร้อมสู้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในทุกกติกา

ภท.-“แต่งหล่อรอเลือกตั้ง”

ขยับมาที่ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เริ่มเดินเกมปฏิบัติการเตรียมตัวสู้เลือกตั้ง โดยในปี 64 ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีเอกภาพมากที่สุด ไม่มีปัญหาความขัดแย้งภายใน โดยมี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และ “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ทำงานสร้างพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมือง มี นายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีของพรรค อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้เมื่อเกิดวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 “เสี่ยหนู” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มีบทบาทสำคัญอย่างมากและหลายครั้งต้อง “กลืนเลือด” แต่สุดท้ายประเทศไทยได้รับการยอมรับจากยูเอ็นแก้ปัญหาคุมเรื่องติดเชื้อโควิดได้ดี และตั้งเป้าฉีดวัคซีนเต็มแขน ครบ 100 ล้านโด๊ส

โดยในปี 65 พรรคภูมิใจไทย เตรียมคัดผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.. ทั้ง 2 ระบบ ตั้งเป้ายกทีม ส.. แบบ “บุรีรัมย์ โมเดล” พร้อมประกาศชู “เสี่ยหนู” เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ปชป.-“สะตอกู้ศักดิ์ศรี”

ส่วนสถานการณ์ของ พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค คนที่ 8 ในปี 64 ที่ผ่านมา “จุรินทร์” มุ่งสร้างผลงานในเก้าอี้รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ มีการประชาสัมพันธ์ผลงานออกหน้าสื่อตลอด แต่สภาพภายในพรรคที่ก้าวสู่ปีเสือ กลับมากด้วยรอยแผลเต็มไปด้วยรอยร้าวที่ยากจะจางหายไป โดยในปี 2565 ปชป. ต้องเร่งเดินหน้าฟื้นความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งใน 2 ฐานเสียงสำคัญ ทั้งภาคใต้ที่เพิ่งเปลี่ยนตัวรองหัวหน้าพรรคฯ คุมพื้นที่นี้มาเป็น “เดชอิศม์ ขาวทอง” ส.ส.สงขลา สมัยแรกแต่มากด้วยบารมี ที่ขอประเดิมพิสูจน์ฝีมือในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ จ.ชุมพร และสงขลา กลางเดือน ม.ค.นี้ รวมถึงสนามเลือกตั้ง กทม. ซึ่ง ปชป. หวังใช้สนามเลือกตั้งนี้กอบกู้ศักดิ์ศรีและคะแนนความนิยมของตัวเอง ด้วยการส่งคนหน้าใหม่ โปรไฟล์ดี อย่าง “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมขนทัพว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เดินหน้าปูพรมลงพื้นที่ทำงานขั้นเข้มข้น

ขณะที่หัวหน้าพรรคยังมีโจทย์ใหญ่ ในปี 65 คือการเร่งสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นจากคนในพรรคและประชาชนให้ได้อย่างแท้จริง

พรรคสำรอง-“รอเกิดใหม่”

ปิดท้ายด้วย พรรคสำรอง ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น“เทรนด์ทางการเมือง” ในปี 64 เลยก็ว่าได้ เพราะท่ามกลางการเมืองที่ร้อนแรง ยิ่งทำให้เกิดกระแสข่าวการตั้งพรรคสำรอง ของพรรคการเมืองทั้งขั้วพรรคร่วมรัฐบาล และขั้วพรรคฝ่ายค้าน เพื่อรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ไม่คาดคิด ซึ่งคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสถานการณ์การเมืองในปี 65 จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนถึงขั้นยุบพรรค จนต้องมีการเรียกใช้งานพรรคสำรองที่เคยตกเป็นข่าวเหล่านี้หรือไม่?.