เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดประชุม หัวข้อ “กสม.พบภาคประชาสังคม” ผ่านระบบ zoom โดยมีกสม.และตัวแทนภาคประชาสังคมจากส่วนต่างๆ เข้าร่วม ทั้งนี้ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. กล่าวว่า กสม.ชุดนี้มีแนวทางและนโยบายในการทำงานด้วยกัน 5 ด้าน คือ 1. การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม 2.การส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน 3.สร้างและสนับสนุนความร่วมมือขององค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ 4.สร้างความเชื่อมั่นต่อบทบาทของ กสม.ในระดับสากล เพื่อให้ กสม.ได้รับการปรับสถานะจากระดับ B กลับคืนสู่สถานะ A และ 5.พัฒนาสำนักงาน กสม.เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้ง 5 ด้านต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมช่วยผลักดันเพื่อให้เกิดความสำเร็จ และสามารถเดินหน้าไปด้วยกันอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการ กสม.กล่าวว่า แนวทางการทำงานของ กสม.จะทำงานแบบทีมเวิร์ก เป็นหนึ่งเดียวปรึกษาหารือกันและมีท่าทีออกไปร่วมกัน การทำงานเน้นเชิกรุก รวดเร็ว ไม่คอยตั้งรับเรื่องร้องเรียนเพียงอย่างเดียว หลายเรื่องต้องทำในเชิงระบบหรือกฎหมาย เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ช่วงที่ผ่านมา เราได้ออกไปเจอกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมราชทัณฑ์ เพื่อประสานคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกระบวนการยุติธรรม การอายัดตัว ประวัติอาชญากร การชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ การทำงานของ กสม.กับหน่วยงานต่างๆ ควรจะมีช่องทางสื่อสารเพื่อทำงานร่วมกัน คุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเร็วที่สุด หากเราใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างเดียวอาจจะถูกมองว่าเป็นการจับผิดหรือใช้เวลานานกว่าปกติ
นายวสันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กสม.ยังได้มีท่าทีเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดด้วยโดยขอให้กระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ขณะเดียวกันทาง กสม.ยังได้ลงพื้นที่แคมป์ก่อสร้าง ภายหลังจากมีมาตรการปิดแคมป์ และลงพื้นที่โรงงานผลิตเม็ดโฟมระเบิดที่สมุทรปราการ และลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กสม.พยายามทำงานให้เร็วที่สุด ประสานการคุ้มครองมีรูปธรรมที่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ กสม.เปิดให้ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ สะท้อนปัญหาและเสนอความคิดเห็น อาทิ อยากให้ กสม.สร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อประชาชนให้กลับคืนมา อยากเห็น กสม.ขับเคลื่อนตามบทบาทของกฎหมายควบคู่กับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม อยากเห็น กสม.ทำงานแบบเชิงรุกมากกว่าเชิงรับทำให้การขับเคลื่อนสิทธิไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อยากให้ กสม.ทบทวนการตรวจสอบประชาชนไทยหรือบริษัทที่ไปลงทุนข้ามพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านแล้วถูกละเมิดสิทธิหรือไปละเมิดสิทธิ ควรมีการฟ้องร้องแทนประชาชน อยากให้ กสม. ใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ทำงานแบบเร่งด่วนกรณีที่พบภาวะวิกฤติ รวมทั้งผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดทอนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ น.ส.พรประไพ กล่าวสรุปโดยยืนยันว่า กสม.จะทำงานแบบเชิงรุก และสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนงานต่อไป.