ไม่ว่าสหรัฐจะข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อไปแสดงบทบาทความเป็นเจ้าอิทธิพลโลกได้ไกลสุดขอบโลกแค่ไหน แต่มีประเทศขนาดเล็กสองแห่งในภูมิภาคทะเลแคริบเบียน ที่สร้างทั้ง “ความรำคาญ ความขุ่นเคืองใจ และความกลุ้มใจ” ให้กับรัฐบาลวอชิงตันได้อย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ นั่นคือ เฮติและคิวบา แม้เป็นความท้าทายจากภายนอก แต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมให้กับทุกองคาพยพทางการเมืองของสหรัฐ และสั่นสะเทือนถึงทำเนียบขาวยุคปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเฉพาะในรัฐที่ถือเป็น “สมรภูมิแบตเทิลกราวด์” นั่นคือรัฐฟลอริดา
ที่คิวบาเกิดการประท้วงในระดับซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ ประชาชนจำนวนมากรวมตัวเดินขบวนครั้งใหญ่ตามท้องถนนในกรุงฮาวานา และเมืองใหญ่อีกหลายแห่งของประเทศ แสดงความไม่พอใจนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-กาเนล ทายาทการเมืองของพี่น้องคาสโตร
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คิวบาตกอยู่ภายใต้แรงกดทับอย่างหนักจากสหรัฐ ทั้งมาตรการกดกันทางเศรษฐกิจ และมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศของคิวบามาตลอด หนำซ้ำในเวลานี้ โรคโควิด-19 เดินหน้าเล่นงานมนุษย์ทุกหย่อมหญ้าอย่างไม่หยุดหย่อน และยังไม่มีทีท่าว่า มนุษย์จะสามารถควบคุมเชื้อไวรัสตัวนี้ได้อย่างเด็ดขาด
ขณะที่สถานการณ์ในเฮติซึ่งไร้เสถียรภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งวุ่นวายมากขึ้นไปอีก เมื่อประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ถูกลอบสังหารภายในบ้านพักของตัวเอง ที่กรุงปอร์โตแปรงซ์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา
แม้มีการระบุว่า คนร้ายส่วนใหญ่จากทั้งหมด 28 คน ที่มีการยืนยันตัวตนได้แล้ว เป็นทหารรับจ้างจากโคลอมเบีย แต่ผู้อยู่เบื้องหลังแท้จริงเป็นใครยังคงเป็นปริศนา และอาจเป็นความลับตลอดไปก็ได้ แต่การที่ปรากฏรายงานออกมาว่า หนึ่งในชาวเฮติ-อเมริกันซึ่งถูกจับกุมดั้วยนั้น มีหน้าที่เป็นสายข่าวให้กับวำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ ( ดีอีเอ ) และในบรรดาของกลางที่ตำรวจเฮติยึดได้ รวมถึงตราสัญลักษณ์ของดีอีเอ ยิ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ไบเดนต้องปวดเศียรเวียนเกล้ามากยิ่งขึ้นไปอีก
หลายฝ่ายในพรรคเดโมแครตต้องการให้ไบเดน “จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ” กับทั้งเรื่องในคิวบาและเฮติ แม้เหตุผลที่แสดงออกเบื้องหน้า คือในฐานะที่สหรัฐเป็น “ตำรวจโลก” แต่ในเบื้องหลังนั้นน่าจะเป็นการมองข้ามการณ์ไกลไปจนถึงการเลือกตั้งกลางเทอม และต่อด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไป ในปี 2567
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ไบเดนพ่ายแพ้ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดา ต้องยอมรับว่าพรรครีพับลิกันสามารถสร้างฐานเสียงได้ดีขึ้น ในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายแคริเบียนและลาติน ปัจจุบันวุฒิสมาชิกทั้งสองคนของรัฐฟลอริดามาจากพรรครีพับลิกัน และในจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 27 เขตของรัฐฟลอริดานั้น เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันมากถึง 17 เขต
หลังรักษาท่าทีอยู่ระยะหนึ่ง รัฐบาลวอชิงตันส่งคณะผู้แทนเฉพาะกิจจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และสำนักงานสอบสวนกลาง ( เอฟบีไอ ) เดินทางตรงไปยังเฮติ เพื่อให้ความร่วมมือด้านการสืบสวนสอบสวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการในกรุงปอร์โตแปรงซ์
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงวอชิงตันยืนยันว่า “กำลังพิจารณา” การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเฮติ ในด้าน “ด้านการรักษาเสถียรภาพความมั่นคง” ที่หมายความถึงการต้องส่งทหารเข้าไปในเฮติ แต่สหรัฐแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้เช่นกัน ว่ายังไม่มั่นใจเต็มร้อยว่า “ใครกันแน่” ควรทำหน้าที่รักษาการผู้นำเฮติ แม้สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เทน้ำหนักไปที่นายโคลด โจเซฟ รักษาการนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับฝ่ายค้านในเฮติ
ในเวลาเดียวกัน สหรัฐกล่าวว่า กำลังพิจารณาด้วยว่า จะปรับเปลี่ยนนโยบายต่อคิวบาให้เป็นไปในทิศทางใด แม้ยังไม่มีการขยายความเพิ่มเติม แต่คงยากที่จะเชื่อว่า หากรัฐบาลวอชิงตันยืนกรานว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในคิวบา ที่นายราอูล คาสโตร น้องชายของนายฟิเดล คาสโตร รัฐบุรุษแห่งคิวบาผู้ล่วงลับ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมิวนิสต์ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และมีการส่งไม้ต่อให้กับดิแอซ-กาเนล ผู้นำคิวบาคนปัจจุบัน “เป็นแค่เรื่องภายในของคิวบา” ตามที่สหรัฐกล่าวจริง
การรุกรานอ่าวหมู ความพยายามนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อลอบสังหารนายฟิเดล คาสโตร และการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจทุกวิถีทางของสหรัฐ ยังไม่เคยทำให้รัฐบาลวชิงตันบรรลุเป้าประสงค์ นั่นคือการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา องค์กรการเมืองที่ยังถือเป็น “เสี้ยนหนาม” ของสหรัฐจวบจนถึงตอนนี้
พรรครีพับลิกันไม่พอใจอย่างชัดเจน ที่ไบเดนผ่อนคลายนโยบายเข้มงวดหลายอย่างของทรัมป์ที่มีต่อคิวบา ทำให้หลายฝ่ายตีความว่า ผู้นำสหรัฐอาจกลับมาใช้แนวทางเดียวกับในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเคยเดินทางไปจับมือกับคาสโตรผู้น้องถึงคิวบา เมื่อเดือนมี.ค. 2559 ในเวลานั้นคาสโตรผู้พี่ยังคงมีชีวิตอยู่ และย้ำมาตอดว่า ทรรศนะของเขาเป็นความเห็นส่วนบุคคล และเขาไม่เคยขัดขวางว่าคิวบาจะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศใด แต่เขา “ไม่เคยไว้ใจสหรัฐ” เพราะ “สหรัฐไว้ใจไม่ได้”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS