ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้ เชื่อว่าทุกคนคงอยากได้รับพลังบวก ได้เจอแต่สิ่งดี ๆ ไม่อยากเจอพลังลบ หรืออะไรแย่ ๆ ส่วนตัวผมมักจะพยายามหาหนังดี ๆ มาดูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในช่วงเวลาที่ได้หยุดพักผ่อน 31 ธันวาคม หรือ 1 มกราคม การดูหนังสำหรับบางคนมันช่วยเยียวยา ช่วยรักษา หรือช่วยชโลมจิตใจให้สงบ สบาย อบอุ่น รู้สึกได้พักผ่อน หลังพบเจออะไรมามากมายตลอดทั้งปี

ครั้งแรกที่ได้เห็นข้อความโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง “CODA โคด้าหัวใจไม่ไร้เสียง” เมื่อตอนต้นเดือนธันวาคม เซ้นส์ส่วนตัวมันสะกิดว่า นี่แหละหนังที่ตามหาอยู่ในช่วงปลายปีนี้ หลังจากนั้นผมก็จะคลิกเข้าไปดูหรือไถไปอ่านข้อมูลต่าง ๆ ของหนังเรื่องนี้ตลอด ๆ ทุกครั้งที่เห็นโชว์ออกมาตามโซเชียลมีเดีย ดูคลิปโปรโมทและสัมภาษณ์นักแสดงของเรื่องนี้ในยูทูบ ยิ่งศึกษาข้อมูลก็ยิ่งทำให้รู้สึกอยากดูหนังเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้ตัวอีกที ก็เหมือนตกหลุมรักหนังเรื่องนี้เข้าให้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ดูเลย และเมื่อได้ชมหนังรอบสื่อของ CODA ก็ไม่ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใดเลย หนังช่วยปลอบประโลมจิตใจของผม ช่วยรักษา ช่วยเยียวยา ทำให้รู้สึกดี เหมือนกับที่ เอมิเลีย โจนส์ นางเอกของเรื่องได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า นี่คือหนังที่จะช่วยยกระดับจิตใจผู้ชม และเหมือนจดหมายรักถึงครอบครัว

อะไรคือจดหมายรักถึงครอบครัว เอมิเลีย มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้คนต้องห่างไกลกัน ไม่สามารถพบเจอ สัมผัส ใกล้ชิดกันได้เหมือนแต่ก่อน โดยเฉพาะคนในครอบครัว ตัวผมเองก็ไม่ได้สัมผัส ไม่ได้กอดคุณพ่อคุณแม่มานานเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะกลัวจะเอาโควิดไปติดท่าน การที่เราห่างกัน หากได้ชมหนังเรื่องนี้ด้วยกัน หรือบอกต่อให้คนที่เรารักไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เอมิเลีย มองว่าเปรียบเสมือนการส่งจดหมายรักไปถึงครอบครัว เพราะนี่คือหนังครอบครัว เป็นหนังครอบครัวที่เรียบง่ายแต่แสนพิเศษ อบอุ่น จริงใจ และไม่ได้มีอะไรหวือหวา

สำหรับชื่อหนังเรื่องนี้ CODA มีหลายคนที่สงสัยว่ามันคืออะไร CODA ย่อมาจาก Children Of Deaf Adults (เด็กที่มีพ่อแม่หูหนวก) ซึ่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของ รููบี้ รอสซี่ (เอมิเลีย โจนส์) เด็กสาวมัธยมธรรมดา ๆ ที่โตมาในครอบครัวที่พ่อแม่และพี่ชายหูหนวก ทุกวันของเธอเริ่มตอนตี 3 เธอต้องรีบตื่นแล้วไปทำหน้าที่เป็นกลาสีบนดาดฟ้าเรือหาปลาของครอบครัว ร่วมกับพี่ชาย ลีโอ (แดเนียล ดูแรนต์) ที่หูหนวกเช่นเดียวกับพ่อแม่ รูบี้ยังทำหน้าที่เป็นล่ามประจำครอบครัว และยังคอยปกป้อง แฟรงค์ ผู้เป็นพ่อ (ทรอย คอตเซอร์) และ แจ็คกี้ ผู้เป็นแม่ (มาร์ลี แมตลิน นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์) ความสุขหนึ่งเดียวที่ช่วยปลดปล่อยเธอจากทุกอย่าง นั่นคือการได้ร้องเพลงบนดาดฟ้าเรือแบบสุดเสียง

ด้วยความหวังว่าจะได้ใกล้ชิดกับ ไมลส์ (เฟอร์เดีย วอลช์-พีโล) ชายหนุ่มที่เธอชื่นชอบ รูบี้ จึงสมัครเข้าร่วมวงร้องประสานเสียง ทำให้ครูสอนวิชาดนตรีอย่าง เบอร์นาโด วิลลาโลโบส (ยูจินีโอ เดอร์เบซ) พบเจอความสามารถด้านการร้องเพลงของ รูบี้ เขาจึงต้องการช่วยให้เธอได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาอย่างเต็มที่ ด้วยการขอทุนจากสถาบันดนตรีเบิร์กลี่ย์ให้ แต่ด้วยความกลัวในอนาคต และความลังเลในโอกาสที่ได้รับ อีกทั้งครอบครัวกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน รูบี้จึงต้องตัดสินใจว่า เธอจะเดินตามความฝันของตัวเอง หรืออยู่เติมเต็มครอบครัวของเธอในโลกที่ไร้เสียง

สิ่งแรกที่จะทำให้เราเชื่อในหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มหัวใจก็คือ การแสดงที่สมจริง จะมีอะไรสมจริงไปกว่า 3 นักแสดงในเรื่องที่ต้องเล่นเป็นคนหูหนวก หูหนวกจริง ๆ ทั้งหมดใช้ภาษามือในการสื่อสารในชีวิตจริงอยู่แล้ว การแสดงจึงสมจริงและไหลลื่นมาก ๆ ภาระหนักจึงตกไปอยู่กับ เอมิเลีย โจนส์ แต่เธอทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจาก ทรอย คอตเซอร์, มาร์ลี แมตลิน และแดเนียล ดูแรนต์ ที่เป็นครอบครัวในหนังของเธอ ในการแสดงและการใช้ภาษามือ สถานการณ์ความยากลำบากและการต้องร่วมแรงร่วมใจกันในระยะเวลาอันสั้นแบบนี้ ช่วยทำให้ทั้ง 4 คนกลายเป็นเหมือนครอบครัวจริง ๆ ซึ่งมันถูกถ่ายทอดออกมาในหนัง และทำให้ทั้ง 4 คนคือหนึ่งในทีมนักแสดงที่ดีที่สุดทีมหนึ่งเท่าที่ผมเคยได้ชมมา

นอกจากนั้น ในบริบทของหนัง รูบี้ รู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกินของทุกอย่าง เธอไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัว เพราะพ่อแม่และพี่ชาย เป็นคนหูหนวกเหมือนกัน แต่เธอไม่ใช่ จึงรู้สึกแปลกแยก แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับสังคมเช่นกัน เพราะเธออยู่ในครอบครัวพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทำให้เวลาเข้าสังคม เธอต้องคอยเป็นล่ามให้ครอบครัว มันทำให้เธอเหนื่อยล้า อ่อนแอ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีเวลาให้กับตัวเอง นั่นจึงเป็นอุปสรรคใหญ่ของครอบครัวนี้ ที่เราต้องลุ้นเอาใจช่วยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี ให้ รูบี้ รู้สึกแปลกแยกน้อยลง

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องทำให้คนดูเชื่อให้ได้ก็คือ เสียงของ รูบี้ คนดูต้องฟังแล้วรู้สึกพิเศษเหมือนที่บทเขียนเอาไว้จริง ๆ เสียงที่ทำให้ครูสอนวิชาดนตรี เบอร์นาโด ทึ่ง! จนตัดสินใจลงทุนลงแรงกับเด็กคนนี้ คนดูก็ต้องรู้สึกแบบนั้นเช่นกัน และเสียงของ เอมิเลีย โจนส์ ให้ความรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ

เอมิเลีย เล่าให้ฟังว่า ตอนแสดงฉากที่อยู่ในชมรมประสานเสียง เด็ก ๆ ทุกคนที่เข้าฉากมาจากสถาบันดนตรีเบิร์กลี่ย์จริง ๆ แล้วในเรื่องตอนทุกคนในชมรมโชว์เสียงให้ครูฟัง แล้วครูเลือกเธอเป็นคนพิเศษคนนั้น ทาง เอมิเลีย บอกว่ากดดันสุด ๆ เธอจะร้องให้โดดเด่นกว่าคนเก่ง ๆ พวกนั้นได้อย่างไร เพราะก่อนมาเล่นหนังเรื่องนี้ เธอไม่เคยเรียนร้องเพลง แค่ร้องได้เฉย ๆ ไม่ได้เก่งอะไร อาจเป็นโชคดีของหนังเรื่องนี้ และโชคดีของคนดูอย่างพวกเรา ที่ เอมิเลีย มาออดิชั่นบท รูบี้ ใน CODA จึงทำให้เราได้พบกับ รููบี้ รอสซี่ ที่สมบูรณ์แบบและน่าตกหลุมรักคนนี้

Coda Photo: Mark Hill

ยังเหลืออีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นคือ ไมลส์ ชายหนุ่มที่ รูบี้ แอบชอบจนตัดสินใจเข้าชมรมประสานเสียง แสดงโดย เฟอร์เดีย วอลช์-พีโล คนที่ผมตกหลุมรักจากภาพยนตร์เรื่อง Sing Street การได้เห็น เฟอร์เดีย โลดแล่นอยู่ใน CODA เป็นอีกหนึ่งความสุขในการชมภาพยนตร์เรื่องนี้

หากใครที่ยังไม่รู้ว่าวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะไปไหน จะทำอะไรดี การซื้อตั๋วเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่อง “CODA โคด้าหัวใจไม่ไร้เสียง” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ขอแนะนำครับ รับประกันว่าคุณจะไม่ผิดหวัง ไม่เสียดายเงินที่ต้องจ่ายไป และจะได้น้ำตาไหลด้วยความอิ่มเอม ซาบซึ้งใจ ในตอนท้ายเรื่องอย่างแน่นอน

ขอให้ความรักจงอยู่รายล้อมรอบตัวคุณครับ สวัสดีปีใหม่ครับผม.

วุฒิ พิศาลจำเริญ