ในยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ กับสหภาพโซเวียต และจีน เป็นกลไกที่ทุกฝ่ายต้องจับตา และประเมินทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด รวมถึงช่วงเวลา “นิกสัน อิน ไชนา” หมายถึงการเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน หนึ่งในผู้นำสหรัฐสมัยสงครามเย็น ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลปักกิ่ง ภายใต้หลักการ “จีนเดียว” ที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก ให้กับแทบทุกองค์ประกอบในบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองโลก

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย ซึ่งแนบแน่นขึ้นอย่างชัดเจนในปัจจุบัน ค่อนข้างเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนจากทั้งสองประเทศ ว่าเพื่อเป็นการตอบสนองเชิงกลยุทธ์ต่อนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลวอชิงตัน การเดินเกมของทั้งสามประเทศจะเรียกว่า เข้าทำนอง “วังวนเกมสามเส้า” ก็ไม่น่าจะเกินความจริงนัก

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน มหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลก ถลำลึกเข้าสู่ “สงครามเย็นภารสอง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ต่างฝ่ายต่างยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม บรรยากาศของการขับเคี่ยวทางการเมืองและความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้น แทบไม่มีความแตกต่างจากสงครามเย็นครั้งก่อน ทว่าจะมีความแตกต่างตรงที่ ไม่ใช่การแข่งขันแบบสองขั้วอำนาจอีกต่อไป แต่จะมีผู้ร่วมเล่นมากกว่าหนึ่ง หรือเรียกได้ว่า “อำนาจหลายขั้ว” กล่าวคือ สหภาพยุโรป ( อียู ) สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา อินเดีย และออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี อำนาจและการกำหนดทิศทางทั้งหมดจะยังขึ้นอยู่กับทั้งสามประเทศที่เป็นผู้คุมเกม นั่นคือ สหรัฐ จีน และรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปุติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน พบกันที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562

ทั้งนี้ ในส่วนของรัสเซียนั้น ต้องยอมรับว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจของรัสเซียในเวลานี้ ยังไม่อาจทัดเทียมอีกสองประเทศได้ เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูประเทศ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อปี 2534 แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อำนาจทางทหารของรัสเซียไม่เป็นสองรองใคร ชัดเจนที่สุดในเวลานี้ คือบรรยากาศตึงเครียดตามแนวพรมแดนทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งติดกับภาคตะวันตกของรัสเซีย ที่รัฐบาลมอสโกยังคงเป็น “ผู้กำหนดสถานการณ์” เหนือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) สหรัฐ และแม้แต่ยูเครนเอง

สหรัฐใช้วิธียกระดับมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อจีนและรัสเซียมาขึ้นอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนปัจจุบัน การดำเนินการนี้ยิ่งกลายเป็นการเปิดโอกาสให้จีนและรัสเซียกระชับสัมพันธ์กันให้แนบแน่นมากขึ้น

“กองกำลังบางกลุ่มซึ่งอยู่ภายใต้หน้ากากของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” กำลังพยายามแทรกแซงกิจการภายในของทั้งรัสเซียและจีน ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนเหล่านี้ “บดขยี้” บรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างประชาคมโลก ด้วยเหตุนี้ รัสเซียและจีนจึงควรยกระดับความร่วมมือในมิติที่เกี่ยวข้อง “ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้” เพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศอย่างสอดประสาน เป็นความเห็นส่วนหนึ่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวระหว่างการพบหารือออนไลน์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ หารือออนไลน์กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564

อย่างไรก็ตาม จีนและรัสเซียทราบดี ว่าไม่ควรนำเศรษฐกิจของประเทศตัวเองเข้าไปเป็นเครื่องมือวางเดิมพันกับสหรัฐ เพราะความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกรณีที่ชัดเจนรวมถึงการที่สหรัฐ “เปิดทาง” ให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ( ดับเบิลยูทีโอ ) เมื่อปี 2544 และการ “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย เมื่อปี 2554

โลกยุคปัจจุบันมีความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน บริบทและองค์ประกอบของ “สงครามเย็น” สมัยนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเหมือนกับการขับเคี่ยวกันในยุคที่ยังมีกำแพงเบอร์ลิน สงครามเวียดนาม และรัฐบาลเขมรแดง การแข่งขันระหว่างทั้งสามประเทศ “มีช่องว่าง” ให้ประเทศขนาดกลางแลพะขนาดเล็กเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในด้านการเป็นผู้เล่นโดยอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง และการปรับตัวเองให้พร้อมรับมือกับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม องค์กรซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกระหว่างประเทศของแต่ละภูมิภาค อาทิ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ต้องพร้อมขับเคลื่อนท่ามกลางกระแสเหล่านี้ บนพื้นฐานของความเป็นเอกภาพ ที่ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ภายใน.

ทีมข่าวต่างประเทศ

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES