ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กาเบรียล บอริก เป็นแกนนำแนวร่วมนักศึกษา เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสวัสดิการด้านการศึกษา จากรัฐบาลชิลีของประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปีเญรา อย่างไรก็ดี อีก 10 ปีต่อมา บอริกกลับมาพบกับปีเญราอีกครั้ง ไม่ใช่ทั้งในฐานะแกนนำการเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และผู้นำพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นฝ่ายค้าน แต่อยู่ในฐานะว่าที่ผู้นำชิลีคนต่อไป โดยจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในเดือนมี.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งบอริกจะมีอายุ 36 ปี ถือเป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของชิลี

การเตรียมขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในชิลีของบอริก เป็นไปตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบชิงดำหรือรอบตัดสินของชิลี เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนนี้ ประชาชนออกมาลงคะแนนมากเกือบ 56% เป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ชิลียกเลิกกฎหมายบังคับการออกมาใช้สิทธิ เมื่อปี 2555 สะท้อนความตื่นตัว และ “ความต้องการเปลี่ยนแปลง” ของชาวชิลี ซึ่งบอริกได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเกือบ 56% ชนะคู่แข่งจากพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยม ซึ่งได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนประมาณ 44%

สำหรับนโยบายน่าสนใจที่บอริกประกาศไว้ในช่วงหาเสียง รวมถึงการยกเลิกระบบบำนาญเอกชน หนึ่งในสัญลักษณ์ของกลไกเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่จัดตั้งในสมัยของนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ และการคัดค้านโครงการเหมืองทองแดงแห่งใหม่ แม้ชิลีเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก

BBC News

นอกจากนี้ ว่าที่ผู้นำของชิลียังกล่าวถึง “การจัดตั้งระบบสวัสดิการสังคมอย่างแท้จริง” ด้วยมาตรการที่รวมถึง การเพิ่มเพดานภาษีของกลุ่มผู้มีฐานะ และการเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาสังคม ภายในประเทศแห่งนี้ ซึ่งมีสัดส่วนความเหลื่อมล้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม นโยบายเหล่านี้สร้างความวิตกกังวลอย่างหนัก ให้กับบรรดานักลงทุน ว่าจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชิลี ซึ่งมีฐานะมั่งคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมของชิลีเป็นภาคธุรกิจซึ่งต้องตื่นตัวมากที่สุด กับการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศของบอริก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่โครงการเหมืองทองแดงมีอันต้องสะดุด โดยว่าที่ผู้นำชิลีกล่าวว่า เขาไม่ต้องการให้มีพื้นที่ส่วนใดในประเทศ “ต้องเสียสละเป็นที่รับมลพิษ” โครงการเหมืองแร่แห่งนี้จะเป็นการทำลายธรรมชาติอย่างชัดเจน และเขาไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน สภาของชิลียังคงอยู่ระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ว่าด้วยการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีกับบริษัทเหมือง และร่างกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยการปกป้องธารน้ำแข็งบนพื้นที่หุบเขา ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเหมืองมีความกังวลว่า หากท้ายที่สุดแล้ว สภาของชิลีผ่านกฎหมายที่ยังคงเนื้อหาแบบนี้ กลุ่มผู้ทำเหมืองแร่ในประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะที่บอริกมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้นในเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อม นัยว่าเพื่อบรรเทาความวิตกกังวลของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า แผนการหลายอย่างไม่สามารถลงมือทำพร้อมกันได้ในคราวเดียว จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวชิลีเป็นสำคัญ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP