สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี เกี่ยวกับกรณีนายโคลด โจเซฟ รักษาการนายกรัฐมนตรีเฮติ เรียกร้องรัฐบาลวอชิงตัน "มอบความสนับสนุนด้านความมั่นคง" ต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสถานที่สำคัญในเฮติ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า "เรื่องนี้ยังไม่อยู่ในวาระการหารือของรัฐบาลวอชิงตัน"
อย่างไรก็ดี ไบเดนยืนยันรายงานที่ออกมาก่อนหน้านี้ ว่านาวิกโยธินจำนวนหนึ่งเดินทางเข้าสู่เฮติแล้ว เพื่อร่วมคุ้มสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงปอร์โตแปรงซ์ ซึ่งผู้นำสหรัฐใช้คำว่า "เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างขับเคลื่อนอย่างราบรื่นตามปกติ"  และเน้นว่า ความสนับสนุนหลักของสหรัฐที่มีต่อเฮติ เกี่ยวกับคดีการลอบสังหารโมอิส เน้นการสืบสวนสอบสวนเป็นหลัก พร้อมทั้งกล่าวถึงความช่วยเหลือด้านวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย โดยเฮติเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ระบุว่า ยังไม่มีวัคซีนแม้แต่โด๊สเดียว
ในเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีอีวาน ดูเก ผู้นำโคลอมเบีย กล่าวถึงการที่ผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่ในคดีการลอบสังหารผู้นำเฮติ เป็นกลุ่มทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย ว่าผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลการว่าจ้าง "ให้ไปอารักขาบุคคล" แต่มีจำนวนหนึ่งที่ทราบว่า "มีภารกิจก่ออาชญากรรม"
เจ้าหน้าที่เอฟบีไอร่วมตรวจสอบบ้านพักของประธานาธิบดีโฌเวเนล โมอิส ในกรุงปอร์โตแปรงซ์
ด้านกระทรวงกลาโหมของสหรัฐให้ข้อมูลด้วยว่า ในบรรดาผู้ต้องสงสัยเป็นทหารรับจ้างชาวโคลอมเบียนั้น "มีจำนวนหนึ่ง" เคยเข้ารับการฝึกฝนทางทหารในสหรัฐ ระหว่างประจำการอยู่ในกองทัพโคลอมเบีย ปัจจุบันโคลอมเบียเป็นพันธมิตรทางทหารสำคัญที่สุดของสหรัฐในอเมริกาใต้ 
อนึ่ง เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานเพิ่มเติมโดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานอัยการสูงสุดของเฮติ ว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติมเป็นคนล่าสุด คือนายดมิทรี เฮราร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำทำเนียบประธานาธิบดี โดยประเด็นสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องการทราบ คือ "เพราะเหตุใด" กลุ่มคนร้ายจึงสามารถเข้าไปภายในพื้นที่ "ได้อย่างง่ายดาย".

เครดิตภาพ : REUTERS, AP