หลายครั้งที่อาตมาไปบรรยายธรรมกับคนทำงาน เช่น พยาบาล เป็นต้น มักมีคำถามว่า “ถ้ามีงานวุ่นและยุ่งทั้งวัน จะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร?” 

อาตมาจะถามว่า “คนป่วยกับญาติคนป่วย พยาบาลเหนื่อยใจกับใครมากกว่ากัน?” พยาบาลเกินครึ่งห้องประชุม จะยิ้มตอบพร้อมกันว่า “เหนื่อยกับญาติ” 

การบริหารกาย บริหารใจ บางคนคิดว่าต้องเข้าวัด นุ่งขาวห่มขาว แท้จริงแล้ว การไปปฏิบัติธรรม 3 วัน 7 วัน อาจจะน้อยไปสำหรับการเข้าถึงธรรมะกับการทำงาน  

เพราะอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้  อารมณ์ คำพูดที่มากระทบ ก็เป็นอารมณ์กรรมฐานได้ ห้องทำงานก็เป็นศาลาปฏิบัติธรรม มีใครมานินทาใส่ร้าย ก็นำมาสอบอารมณ์เราไปในตัว เปลี่ยนอุปสรรคที่เกิดขึ้น ให้เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรมได้  

ส่วนบางคนต้องการอยู่ในห้องเงียบๆ บางคนต้องไปอยู่ที่วัด ปิดวาจา ไม่พูดไม่คุยกับใคร ก็เป็นแนวทางหนึ่ง แต่แนวทางที่ทุกคนยังต้องทำมาหากิน ต้องพบปะสังสรรค์ ต้องประสานงานกับคนหลายลักษณะ ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้เช่นกัน  

หากเราทำงานแล้วเจอคนที่เห็นแก่ตัว เราก็ปฏิบัติธรรมได้ โดยไม่เห็นแก่ตัว หรือเราพบคนคนหนึ่งที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล เราก็ต้องปฏิบัติธรรม ด้วยการชื่นชมกัน 

ทุกนาทีเป็นการปฏิบัติธรรมได้หมด คนทำงานมีความหลากหลาย บางคนเรียนจบสูงอาจจะเห็นแก่ตัวก็ได้ บางคนเรียนไม่สูง อาจจะจิตใจดีมีเมตตาก็ได้  

พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านจึงสอนให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “ฝืนคือฝึก” 

เรื่องบางเรื่องเราไม่เก่ง ฝืนไปฝืนมา เป็นการฝึกไปในตัว เพราะฝืนคือฝึก ฝึกการเกื้อกูลฝึกการช่วยเหลือ ฝึกการให้อภัย หากเราฝึกได้เช่นนี้ ย่อมมีคนชื่นชมมากกว่าคนชิงชัง การใช้ปัญญา ใช่ว่าใช้แล้วจะมีความสุข บางครั้งการยอมแกล้งโง่ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง 

ดังคำโบราณ “เงียบคือฉลาดที่สุด” บางครั้งเราไม่ต้องขยันจนเพื่อนเดือดร้อน แต่เราควรเพียรให้ถูกที่ ด้วยคาถาฝึกทำงานที่อาตมาใช้แล้วมีความสุข คือ เราไม่ได้สูงขึ้นหรือจมลง เพราะน้ำลายใคร 

คนที่กำลังจะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับต้น ผู้ใหญ่ข้างบนก็กดลงมา คนข้างล่างก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ทำตามบ้างไม่ทำตามบ้าง เราอยู่ตรงกลาง…ก็เหนื่อย แต่เราไม่ควรเหนื่อยใจ ควรบริหารประคองใจของเราเอง 

เมื่อเราทำดี คนก็ว่า ถ้าทำเลว คนก็ด่า หากไม่ทำอะไรเลย คนก็นินทา สุดท้าย เราต้องเลือกที่จะทำดีต่อไป ถ้าใครจะว่าอะไรก็ว่าไป  

เราไม่ได้สูงขึ้นหรือจมลงเพราะน้ำลายใคร แต่เราสูงขึ้น เราเจริญขึ้นในหน้าที่การงาน เพราะการกระทำและพฤติกรรมของเราเอง  

เรื่องธรรมดาบนโลกนี้มีอยู่ 2 อย่าง คือ “ความถูกใจ” และ “ความถูกต้อง” บางเรื่องถูกใจมักไม่ถูกต้อง แต่อะไรที่ถูกต้องก็มักจะไม่ถูกใจ 

มีคำอีก 2 คำที่มีความสำคัญเช่นกัน คือ “ตำแหน่ง” กับ “ตำนาน”  

คนบางคนใช้ตำแหน่งสร้างให้เป็นตำนาน คนบางคนเอาตำนานมาเพิ่มเติมให้ตำแหน่งสมบูรณ์ ถนนเส้นทางการทำงานสายนี้ มีคนเดินมาก่อนเราไม่รู้กี่พันกี่หมื่นคน ในตำแหน่งหน้าที่นี้ คนบางคนก็กลายเป็นตำนาน เพราะสร้างความประทับใจ สร้างความภาคภูมิใจ และเกียรติยศศักดิ์ศรีให้กับหน่วยงาน  

เมื่ออยู่ที่ไหน หรืออยู่ในตำแหน่งอะไร ขอให้อยู่และทำงานอย่างมีความสุข คับที่อยู่ได้ คับใจก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน คนทำงานฉลาดจะไม่เป็นนักโทษสิ่งรอบตัว 

ดังหลักใจที่อาตมาใช้เป็นประจำว่า  “ทำงานฉลาด ไม่ประกาศศัตรู” 

ถ้าคิดจะย้ายไปไหน ก็เหมือนกับย้ายความทุกข์ไปที่ใหม่ เพราะไม่มีที่ไหนที่ไม่มีปัญหา และไม่มีที่ใดที่ไม่มีปัญญา หากเหนื่อยกับงานก็พอทน เหนื่อยกับคนก็ทนเอา 

หากโยมเหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ อาตมาขอแนะนำ “ลาออกเลยโยม” 

ลาออกจากความเหนื่อยนะโยม… ไม่ใช่ลาออกจากงาน 

………………………………………

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี