พลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (เลขาธิการ กมช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้มีผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก ทาง สกมช. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้ จึงมีแผนสร้างความตระหนักทั้งในส่วนของประชาชนและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของประเทศให้มีความพร้อมในการรับมือ โดยล่าสุดได้จัดการฝึกอบรม เปิดการฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ ต่อหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ โดยมีองค์งานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในบุคลากรด้านนี้ของแต่ละหน่วยงาน มีความพร้อมในการรับมือภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานในระดับประเทศ

“โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศต้องมีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเงิน สาธารณสุข ไฟฟ้า คมนาคม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับแผนของ สกมช.ที่ได้มีเป้าหมาย พัฒนาบุคลากร ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ต่ำกว่า 2,250 คนในปีหน้า”

พลเอก ปรัชญา กล่าวต่อว่า ในปี 65 สกมช.พยายามจะเดินหน้าพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องหลังได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 64 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรภายใน ด้วยการฝึกร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละกลุ่ม รวมถึงหน่วยงาน ต่างระดับชาติ และจะเร่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนชั่นแนล เซิร์ต ให้เสร็จในปีหน้า เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ และเมื่อเกิดเหตุจะสามารถตอบสนอง และแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก หรือมีผลกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้จะต้องของบประมาณและกำลังในด้านบุคลลากรเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากปัจจุบันที่ สกมช.ยังขาดกำลังคนและงบประมาณอยู่จำนวนมาก

“ในประเทศไทย กลุ่มเซกเตอร์ที่เป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ ก็ คือ ภาคการเงิน สาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาก็ มีข่าวเรื่องการถูกโจมตีเป็นระยะ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เช่น ไฟฟ้าพลังงาน สาธารณูปโภค คมนาคมต่างๆ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน ซึ่งหากเป็นหน่วยงานรัฐ ขนาดเล็กอาจจะยังไม่มีความพร้อมมากนัก ทาง สกมช.จึงต้องเข้าไปช่วยสร้างความตระหนัก และความพร้อมในการรับมือมมากยิ่งขึ้น”