นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 64 การชอปปิงผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซยังคงได้รับความนิยมและเติบโตสูงขึ้นในไทย เนื่องจากพฤติกรรมนักช้อปคนไทย 64% ยังชอบแชตคุย สอบถามข้อมูลจากร้านค้าก่อนซื้อ โดยในส่วนของไลน์ช้อปปิ้ง หลังมีการคลายล็อกดาวน์ ก็มีร้านค้าโซเชียลทั้งเอสเอ็มอีและแบรนด์ชั้นนำทั้งของไทยและต่างประเทศเข้าสู่แพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้จะมีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นถึง 300% หรือมีจำนวนรวม 300,000 ร้าน ส่งผลให้ยอดขายสินค้ารวมทั้งแพลตฟอร์ม มีมูลค่าสูงถึง 5,300 ล้านบาท เติบโต 370% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

“กลยุทธ์ในการกระตุ้นการช้อปปิงบนแพลตฟอร์ม คือการเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่า และได้สะสมพอยต์ ซึ่งมีส่วนช่วยดันยอดขายโดยรวมทั้งแพลตฟอร์มสูงขึ้นกว่า 50% และเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อครั้งเฉลี่ย 1,800 บาท และเพิ่มความถี่การซื้อมากขึ้น 12% โดยปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ ไลน์พอยต์ มีจำนวนถึง 12 ล้านคน อายุระหว่าง 30-40 ปี ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และคุ้นเคยกับการซื้อขายของผ่านออนไลน์ และเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเรียบร้อยแล้ว และในปีนี้ลูกค้าได้รับแต้มสะสมไลน์ พอยต์ไปแล้ว ถึง 63 ล้านพอยต์ เท่ากับมูลค่า 63 ล้านบาท”

นายเลอทัด กล่าวต่อว่า ในปี 64 จำนวนร้านค้าโซเชียลเปิดใหม่บน ไลน์ ช้อปปิ้ง สูงสุด 5 อันดับแรกแบ่งตามประเภทของสินค้า ได้แก่ 1. อุปกรณ์กีฬา 2. สินค้าสัตว์เลี้ยง 3. สุขภาพและความงาม 4 . สินค้าแม่และเด็ก และ 5. แฟชั่น ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเนื่องจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น จึงหันมาดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายที่บ้าน อีกทั้งตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงทั้งในไทยและของโลกก็กำลัง ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าความงาม แฟชั่น และอาหาร ยังคงครองแชมป์ยอดขายสูงสุด ในขณะที่หลังคลายล็อกดาวน์ ยอดขายกลุ่มท่องเที่ยวเติบโตขึ้น 13 เท่าจากต้นปี รับกระแสผู้บริโภคเริ่มกลับมาท่องเที่ยว เพื่อความผ่อนคลายหลังยกเลิกล็อกดาวน์

นอกจากนี้ยังมีเทรนด์นักช้อป โซเซียล คอมเมิร์ซ ที่น่าสนใจ คือ การชำระเงินแบบดิจิทัล หรือ ดิจิทัล เพย์เมนต์ ได้รับความนิยมมากขึ้นและกลายมาเป็นทางเลือกหลัก ของการชำระเงิน จากข้อมูลสถิติร้านค้าที่รับชำระด้วยบัตรเครดิต/เดบิตผ่าน แรบบิท ไลน์ เพย์  มียอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 40-45%