เชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเคยพบกับปัญหา “รถมีปัญหาเบรกแข็ง” เมื่อไปปรึกษาช่างที่ศูนย์บริการก็ได้รับคำตอบว่า “หม้อลมเบรกเสีย” ต้องเปลี่ยน แต่ราคาแพงก็แพงจับใจ วันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” ขอนำทุกท่านมารู้จักกับเจ้า “หม้อลมเบรก” ก่อนที่จะต้องเงินเงินซ่อม พร้อมทั้งเทคนิคในการช่วยประหยัดเงินในกระเป๋ามาฝากกันครับ

“หม้อลมเบรก” (Brake Booster) มีหน้าที่สำคัญคือ ช่วยผ่อนแรงในการเหยียบเบรกทำงานด้วยระบบสุญญากาศ โดยในหม้อลมเบรกจะมีแผ่นไดอะเฟรมและจะมีท่อต่อเชื่อมกับท่อไอดี เมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะดูดเอาอากาศเพื่อใช้ในการจุด ระเบิดผ่านท่อไอดีและท่อที่เชื่อมต่อไปยังหม้อมลมเบรกด้วย ส่งผลทำให้ภายในหม้อลมมีสภาวะเป็นสูญญากาศ และเจ้าสุญญากาศนี้เองที่เป็นตัวช่วยผ่อนแรงในการเหยียบเบรกของเราให้นุ่มนวล แต่ในทางกลับกัน เมื่อเครื่องยนต์ดับ เราจะสามารถเหยียบเบรกที่นุ่มนวล ได้แค่ 2-3 ครั้ง จากนั้นแป้นเบรกก็จะแข็งทื่อขึ้นมาในทันทีด้วยเหตุผลที่ว่าแรงลมดูดซึ่งถูกเก็บกักไว้ในหม้อลมเบรกหมดลงนั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าชิ้นส่วนในระบบเบรก อาทิ ผ้าเบรก จานเบรก จะเทพขนาดไหนแต่ถ้าหม้อลมเบรกชำรุดเสียหายชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพได้เช่นกัน

แนวทางการซ่อมแซมแก้ไขเมื่อหม้อลมเบรกชำรุดเสียหาย

-ซ่อม เปลี่ยนแผ่นไดอะเฟรม ในหม้อลมบางรุ่น (ย้ำเฉพาะบางรุ่นเท่านั้น) สามารถเปิดเปลี่ยน แผ่นไดอะเฟรม ได้แต่อย่างไรก็ตามจะต้องเลือกใช้แผ่นไดอะเฟรม ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน
-เปลี่ยนหม้อลมเบรก มือสอง ราคาไม่แรง แต่ต้องอาศัยช่างผู้เชี่ยวชาญในการเลือกซื้อ
-เปลี่ยนหม้อลมเบรกใหม่ สบายใจแต่ไม่สบายกระเป๋าเนื่องจากหม้อลมเบรกใหม่แกะกล่องมีราคาที่สูงเอาเรื่องอยู่ที่เดียว

เทคนิคควรรู้
วิธีตรวจสุขภาพหม้อลมเบรกด้วยตัวเอง
-ดับเครื่องยนต์ เหยียบเบรกให้สุดแล้วปล่อย 5-6 ครั้ง จนลมสูญญากาศหมดหม้อลม แป้นเบรกจะแข็งดันเท้าขึ้นมา จากนั้นให้เหยียบเบรกค้างเอาไว้ ทั้งที่แข็งๆ สตาร์ตเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์ติดให้สังเกตว่า ถ้าแป้นเบรกต่ำลงตามแรงเยียบเบรกที่ค้างไว้ แสดง

ว่าหม้อลมเบรกยังปกติสุขดีอยู่ แต่ถ้าแป้นเบรกไม่ต่ำลงหรือสูงขึ้น แสดงว่าผิดปกติ

-ตรวจการกักเก็บลมดูด (สุญญากาศ) ในระบบ ติดเครื่องยนต์ให้เดินเบา ประมาณ 2 นาที แล้วดับเครื่องยนต์ จากนั้นเหยียบแป้นเบรกลงจนสุดแล้วปล่อย คอย 5 วินาที ทำซ้ำแบบเดิมอีก 3 ครั้ง และให้สังเกตว่าในทุกๆ ครั้งที่เหยียบ แป้นเบรกจะต้องสูงขึ้นกว่าเดิม
เล็กน้อยซึ่งถือว่าปกติ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกครั้งที่มีการเหยียบเบรก ลมดูด (สุญญากาศ) ภายในหม้อลมจะลดลงไปเรื่อยจนหมดในที่สุด แต่หาก การเหยียบทุกครั้งแป้นเบรกเท่ากันแสดงว่ามีการรั่วซึมของระบบลมดูด (สุญญากาศ )

-ตรวจสอบการทำงานของแผ่นไดอะเฟรม ติดเครื่องยนต์ แล้วเหยียบแป้นเบรกค้างไว้ จากนั้นดับเครื่องยนต์ โดยที่ยังเหยียบแป้นเบรกค้างเอาไว้ ให้มากกว่า 30 วินาที ถ้าแป้นเบรกไม่มีการดันสูงขึ้น แสดงว่าการทำงานของ แผ่นไดอะเฟรม ยังปกติ แต่ถ้าแป้นเบรกดันเท้าสูงขึ้นมา แสดงว่าแผ่นไดอะเฟรมอาจรั่วขาด หรือหม้อลมชำรุด

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถตรวจสุขภาพ “หม้อลมเบรก” ของรถคุณได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติม ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้อย่างแน่นอนครับ

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ 
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]