ทอร์นาโดหลายสิบลูกซึ่งพัดถล่มภูมิภาคมิดเวสต์ และพื้นที่บางส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ เมื่อต้นเดือนนี้ คืออีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่โดยปกติแล้ว ทอร์นาโดเป็นพายุหมุนซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการเกิดทอร์นาโดหลายสิบลูกโหมกระหน่ำในช่วงกลางดึกของวัน และอยู่ในช่วงฤดูหนาวด้วย จึงมีการวิเคราะห์มากขึ้นว่า ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศโลก หรือภาวะโลกร้อน มีผลต่อความรุนแรงของทอร์นาโดมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยมีงานวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสภาพอากาศ กับการก่อตัวของทอร์นาโดออกมามากนัก แตกต่างจากภัยแล้ง น้ำท่วม และเฮอริเคน ดังนั้น การค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างโลกร้อนกับทอร์นาโดจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

ABC News

ศ.วิกเตอร์ เจนซินี จากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นอิลลินอยส์ และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านทอร์นาโดของสหรัฐ ให้ความเห็นไว้ว่า การเกิดทอร์นาโดครั้งนี้ถือว่า “เป็นหนึ่งในที่สุด” ในประวัติศาสตร์ของอเมริกาเลยทีเดียว แม้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ว่าวิกฤติโลกร้อน “มีบทบาท” ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ขอบเขตของเรื่องนี้ยังคงคลุมเครือ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดเดา คือ การเกิดทอร์นาโด “นอกฤดูกาล” แบบนี้ จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น

ตลอดระยะเวลา 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเกิดทอร์นาโดในภูมิภาคมิดเวสต์และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีการตั้งสมมุติฐานเช่นกันว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศอาจส่งผลให้การก่อตัวของทอร์นาโดเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกมากขึ้นหรือไม่ จึงเข้าสู่แถบลุ่มน้ำมิสซิสซิปปีของสหรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น และความเสียหายจึงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ดังเช่นเหตุการณ์ทอร์นาโดที่เพิ่งผ่านพ้น

ทั้งนี้ การก่อตัวของทอร์นาโดค่อนข้างแตกต่างจากพายุรูปแบบอื่น ท่ามกลางสภาพอากาศที่ผิดปกติในปัจจุบัน ความร้อน ความชื่น และกระแสลมแรงย่อมมีผล การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อระบบอากาศ และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร ส่งผลต่อสภาพอากาศภาคพื้น รูปแบบการเกิดทอร์นาโดจึงผิดแปลกไปจากที่ควรจะเป็น

ศ.เจนนิเฟอร์ มาร์ลอน จากมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า ยังไม่ควรด่วนสรุปต่อทุกสมมติฐาน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการเกิดทอร์นาโดครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤติโลกร้อน ไม่เพียงแต่ความรุนแรง แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงช่วงเวลาของการก่อตัวด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าไม่ว่าสถานการณ์ของสภาพอากาศโลกนับจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ตราบใดที่พฤติกรรมของมนุษย์ยังคง “คุกคาม” ธรรมชาติต่อไปเช่นกัน ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า และการก่อสร้างเมืองใหม่ โดยไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางของการอยู่ร่วมกัน มนุษย์ต้องพร้อมยอมรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติลักษณะนี้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP