สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ว่าองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เผยแพร่รายงานในสัปดาห์นี้ ว่าสถานการณ์อาหารโลกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เลวร้ายตั้งแต่ปี 2563 อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เห็นได้จากการยังมีมาตรการควบคุมออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากร 1,800 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ เพิ่มขึ้นเกือบ 150 ล้านคนภายในปีเดียว


ทั้งนี้ ดัชนีราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ในรอบปีที่ผ่านมา โดยราคาผักสดและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 74% การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องจัดสรรเงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ไปกับอาหาร ในขณะที่ฐานะการเงินในครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนผู้ผลิตอาหารได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงและราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น


ปัจจุบัน 16% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเอเชียใต้เผชิญกับภาวะขาดสารอาหาร ขณะที่สถานการณ์ของการขาดสารอาหารทั่วทั้งภูมิภาคพุ่งสูงสุดในรอบ 1 ทศวรรษ โดยขึ้นมาอยู่ที่ 8.7% ขณะที่สถานการณ์อาหารในเกาหลีเหนืออยู่ในภาวะเลวร้ายที่สุดในเอเชีย จากการที่มากกว่า 40% ของประชากรได้รับอาหารไม่เพียงพอ แต่สถานการณ์อาหารในอัฟกานิสถาน ปาปัวนิวกินี และติมอร์เลสเต กำลังรุนแรงไม่แพ้กัน


เมื่อวิเคราะห์ตามช่วงอายุปรากฏว่า มากกว่า 31 ล้านคน ของประชากรเด็กในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีอาการของภาวะกษัยหรือโรคผอมแห้ง และหากสถานการณ์อาหารโลกยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จำนวนเด็กซึ่งประสบกับภาวะดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มเป็นมากกว่า 40 ล้านคน


รายงานของเอฟเอโอสรุปว่า การยกระดับกลไกที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารโลก ต้องครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการโรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การขจัดความยากจน การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และความท้าทายอื่นทางสังคมและเศรษฐกิจ.

เครดิตภาพ : AP