เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะอนุ กมธ.ครุภัณฑ์ และ ไอซีที ในคณะ กมธ.งบประมาณ2565 กล่าวถึงการพิจารณางบประมาณกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนของกรมหม่อนไหม ว่า ประเทศไทยทำไมต้องมีกรมหม่อนไหม เราไม่ได้พูดว่า หม่อนไหมไม่มีคุณค่า หรือไม่มีประโยชน์ แต่ทุเรียน ยางพารา หมามุ่ย ผักชี มะเขือพวง มะเขือยาว ก็สร้างได้ให้เกษตรกรเช่นกัน แต่เหตุใดประเทศไทย ไม่มีกรมมะเขือพวง กรมมะเขือยาว กรมหมามุ่ย หรือกรมทุเรียนบ้าง มีแค่กรมหม่อนไหม ที่สามารถขอรับงบได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องผ่านกระทรวงเกษตรฯ ทั้งนี้กรมหม่อนไหม ใช้งบฯ ใน 2564 จำนวน 560 ล้านบาท มาปี 2565 อีก 506 ล้านบาท แม้จะถูกลงไปเกือบ 60 ล้านบาท แต่ถ้าไปดูภาพรวม เอาเฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรก็ปาไป 277 ล้านบาท คิดเป็น 55% หรือครึ่งต่อครึ่งของงบ 506 ล้านบาท ที่ขอมา ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร มีแค่เพียง 68 ล้านบาท หรือคิดเป็นแค่ 14%
นายจิรัฎฐ์ กล่าวว่า ที่เหลืออีก 31% เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการพระราชดำริ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ต่างๆ ซึ่งในขณะนี้โควิด-19 ระบาดลุกลามเราก็รู้อยู่แล้ว แต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ที่มีการจัดมาเเล้ว 17 ครั้ง เช่น จัดงานในชื่อโครงการตรานกยูงพระราชทานสืบสานตำนานไหมไทยใช้ 10 ล้านบาท ปกติงานนี้จัดที่เมืองทองธานี กทม. แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 ระบาด มันก็เป็นคำถามที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าจัดงานกันเเบบไหน ใช้งบฯ อย่างไร ในขณะที่ถ้าเราไปดูมูลค่าของหม่อนไหมในประเทศ ทั้งหมดคือ 350 ล้านบาท ส่วนมูลค่ายอดขายที่ได้จากหม่อนไหม ภายใต้โครงการพระราชดำริ 21 ศูนย์ ขายได้ปีที่แล้ว 2.5 ล้านบาท แต่เราลงทุนถึง 506 ล้านบาท หากไปดูรายละเอียดตามรายโครงการที่ทำจะมีค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าอบรมสัมมนา ค่าซื้อรถยนต์ ค่าจัดงาน ทั้งหมดนี้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกษตรกร หรือไม่ การที่มีคนที่ทำงานในกรมหม่อนไหมออกมาพูดตัดพ้อน้อยใจ ก็ไม่แปลกอะไร เพราะเขาได้รับการเจียดงบไปเพียง 68 ล้านบาท จากงบ 506 ล้านบาท เทียบเป็นแค่งบ 14% ที่ต้องเอาไปดำเนินการตลอดทั้งปี ให้เกิดผลงานของกรมด้วยอีกต่างหาก
นายจิรัฏฐ์ กล่าวอีกว่า บรรยากาศในคณะอนุฯ ครุภัณฑ์ ที่ตนนั่งประชุมอยู่ ก็ไม่เห็นอธิบดีกรมหม่อนไหมเข้ามาชี้เเจง โดยโครงการของกรมหม่อนไหม เช่น โครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน เป็นงบผูกพันเสียด้วย ใช้งบทั้งหมด 58 ล้านบาท ผูกพัน 8 ปี พองบผูกพันเราไม่สามารถตัดได้ จำเป็นต้องใช้ทุกปี โดยลักษณะของงบผูกพันไม่เหมือนกับการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ต้องผ่อนจ่าย แต่ของกรมหม่อนไหมเป็นงบลงทุน ที่ซึ่งเราไม่ลงทุนก็ได้ เช่นโครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน โครงการส่งเสริมพัฒนามูลค่าด้านหม่อนไหม ซึ่งใช้งบผูกพัน 7 ปี วงเงิน 421 ล้านบาท ปีนี้ใช้ 54 ล้านบาท
“ผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องการกระทำผิด หรือมีลับลมคมในอะไร แต่มันจำเป็นต้องชี้เเจงให้สังคมเข้าใจเหตุใดคนที่มีตำแหน่งถึงอธิบดีจึงไม่มาชี้แจงในอนุ กมธ.ฯ เรื่องนี้ไม่ให้เกียรติอนุ กมธ.ฯไม่เท่าไร กลับปล่อยให้เกิดข้อสงสัย เเถมไม่ให้เกียรติหน่วยงาน และบุคลากรของตนเอง ที่ต้องการงบไปบริหารจัดการ ข้ออ้างของอธิบดีบางกรมอ้างเรื่องโควิด อ้างเรื่องต้องไปฉีดวัคซีน บางรายส่งรองอธิบดีกรมมาชี้แจงแทน จริงๆ แล้วคนเป็นอธิบดีจะต้องดูแลลูกน้องตนเอง ถ้าโดนตัดงบหมดใครจะรับผิดชอบ ให้รองอธิบดีรับผิดชอบได้หรือ หรือว่ามั่นใจว่าจะไม่โดนตัดงบ” นายจิรัฏฐ์ กล่าว.