เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะ กมธ. กรณีการตรวจสอบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กมธ.ป.ป.ช.เคยพิจารณาต่อเนื่องมา โดยเชิญอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ช่วงปี 59–63 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบัน มาสอบถามเกี่ยวกับการประสานข้อมูลไปยังออสเตรเลีย ในการขอคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยได้รับการชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศ เคยสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงแคนเบอร์รา และสามารถขอสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงด้วยการทำหนังสือไปขอได้เลย ส่วนศาลอุทธรณ์จะต้องมีการกรอกตามแบบฟอร์มคำขอ พร้อมกับชี้แจงว่าเคยสอบถามข้อมูลไปยัง ร.อ.ธรรมนัส แต่ไม่ได้รับคำตอบจึงไม่สามารถดำเนินการได้ 

นายธีรัจชัย กล่าวว่า กมธ.ป.ป.ช. เคยขอข้อมูลไปยังศาลแขวงและศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ส่งมาให้ กระทรวงการต่างประเทศก็สามารถติดตามข้อมูลได้จาก กมธ.แต่กลับไม่ถาม แต่ไปถาม ร.อ.ธรรมนัส จึงเกิดคำถามว่าปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่อย่างเต็มที่หรือไม่ นอกจากนี้ กมธ.ป.ป.ช.ยังเคยได้รับหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 40 ที่ส่งคดี ร.อ.ธรรมนัส มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศ มีข้อมูล ร.อ.ธรรมนัส อยู่แล้ว โดย ป.ป.ส.ได้มาชี้แจง และแนบเอกสารดังกล่าวให้ กมธ.ป.ป.ช. ซึ่งมีเอกสาร 2 ฉบับ แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับบอกว่าไม่มีข้อมูล จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการปฏิบัติหน้าที่กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส กระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะ กมธ.ป.ป.ช. จึงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังศาลอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าสามารถทำได้ แต่ไม่ได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการให้

นายธีรัจชัย กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6/2564 เรื่อง คุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส ปรากฏว่าในหน้าที่ 5 มีคำวินิจฉัยในวรรคแรกบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอาศัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 13 มี.ค.2537 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มี.ค.2538 และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการช่องทางการทูต โดยมีทางราชการรับรองสำเนาถูกต้อง คำว่าเพื่อดำเนินการช่องทางการทูต กมธ.ป.ป.ช. ได้ติดใจมาโดยตลอดว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน สามารถสั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการใดๆ ได้ และเมื่อสั่งแล้วเหตุใดกระทรวงการต่างประเทศถึงไม่ทำตามช่องทางการทูต

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า สำเนาของคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 13 มี.ค. 2537 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มี.ค. 2538 เป็นข้อมูลทางการออสเตรเลียและไม่อยู่ในความครอบครองของกระทรวงการต่างประเทศ จึงไม่สามารถที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนจึงได้ถามต่อว่าทำไมจึงปฏิเสธเช่นนี้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นการดำเนินการทางช่องทางการทูต ไม่ทำก็ถือว่าเป็นการขัดคำสั่ง ซึ่งได้รับคำตอบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้ดำเนินการทางการทูต ในส่วนนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่าเพื่อดำเนินทางการทูตด้วยหากไม่ได้สั่ง ตนจึงขอเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งให้ ทางปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งให้ดู และตนได้ตรวจสอบพร้อมให้ถ่ายไว้ ปรากฏว่าไม่มีในหมายเรียกของศาลรัฐธรรมนูญที่ 49/2563 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2563 หากเป็นเช่นนี้จริงกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ผิด แต่ทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงเขียนไว้ในคำพิพากษา ตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้แจงในเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งจะมีการสอบถามไปยังสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญว่าตามหนังสือเรียกนี้จริงหรือไม่.