นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานให้ความเห็นและข้อเสนอแนะการจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ ครั้งที่ 1/64 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ว่า รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง การกำหนดแนวทางการพัฒนาการขนส่งทางราง รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางราง ทั้งในส่วนของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและการขนส่งสินค้าของประเทศ เพื่อลดปัญหาความแออัดของจราจรทางถนน ปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงมลพิษต่างๆ

นายกิตติพันธ์ กล่าวต่อว่า ระบบรางที่ลงทุนไปจะต้องเกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพตามที่วางแผนไว้ ดังนั้นจึงต้องมีการวัดผลและประเมินประสิทธิภาพตามระบบอย่างเหมาะสม และได้มาตรฐาน โดยขณะนี้ ขร. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ ซึ่งได้ศึกษารวบรวมการประเมินประสิทธิภาพระบบรางของต่างประเทศ ทั้งเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติด้วย เพื่อเป็นต้นแบบในการประเมินประสิทธิภาพระบบรางของประเทศไทยต่อไป

นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะศึกษาเพื่อจัดทำระบบกำกับและจัดเก็บข้อมูลการประเมินประสิทธิภาพระบบรางของประเทศไทย รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการกำกับและประเมินประสิทธิภาพระบบรางของประเทศไทยด้วย

นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อการดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ จะมีการจัดทำระบบเพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค เพื่อเปรียบเทียบตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ในข้อมูลแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลสถิติผู้โดยสาร ราคาค่าโดยสาร  ข้อมูลการเดินรถ ข้อมูลระบบการให้บริการต่างๆ หรือข้อมูลการขนส่งสินค้า เป็นต้น โดยการกำกับและประเมินประสิทธิภาพนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่กำหนดให้ ขร. มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำและประกาศใช้มาตรฐานการขนส่งทางรางคือ มาตรฐานด้านการทดสอบ และ มาตรฐานด้านการตรวจสอบ

นายกิตติพันธ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อ พ.ร.บ.กรมการขนส่งทางราง พ.ศ. … ประกาศใช้ ขร. จะมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำ และประกาศใช้มาตรฐานการขนส่งทางราง ในการกำกับดูแลโดยใช้มาตรการทางกฎหมายลำดับรอง เช่น กฎกระทรวง มาตรฐาน ระเบียบ ข้อกำหนดซึ่งการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป.