สำนักข่วรอยเตอร์รายงานจากฐานทัพอวกาศปีเตอร์สัน รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า การซ้อมรบของกองทัพอวกาศสหรัฐ ซึ่งจำลองสถานการณ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึง การป้องกันการยิงทำลายดาวเทียมตรวจจับขีปนาวุธของสหรัฐ การป้องกันการรบกวนสัญญาณดาวเทียม รวมทั้งป้องกันภัยคุกคามอื่นๆ จากสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ที่อาจเป็นกลยุทธ์ที่จะใช้ในสงครามอวกาศ โดยดาวเทียมของจริงไม่ถูกใช้ในการซ้อมรบครั้งนี้

การซ้อมรบอวกาศเป็นเวลา 10 วัน ครั้งนี้ มีขึ้นที่ฐานทัพอวกาศชรีฟเวอร์ ในรัฐโคโลราโด โดยมีนางแคธลีน ฮิคส์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เข้าเยี่ยมชมด้วย นับเป็นการซ้อมรบครั้งที่ 13 ของการก่อตั้งกองทัพอวกาศ ในเดือน ธ.ค. 2562 ภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลายเป็นกองกำลังที่ 6 ของเหล่าทัพสหรัฐ นอกเหนือจาก กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เหล่านาวิกโยธิน และหน่วยยามฝั่ง และเป็นการซ้อมซ้อมรบอวกาศครั้งที่ 3 ร่วมกับกลุ่มชาติพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย

กลุ่มผู้นำระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (เพนตากอน) เดินสายเยือนฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ร่างงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมประจำปี พ.ศ. 2566 ของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเป็นรูปเป็นร่าง เพนตากอนหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น เพื่อเสริมขีดขั้นสมรรถนะเหล่าทัพ ให้สามารถต้านทานภัยคุกคามจากจีนและรัสเซียได้

หลังจากรัสเซียประสบความสำเร็จ ในการทดสอบยิงขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐเชื่อว่า มีความจำเป็นมากขึ้น ในการทำให้เครือข่ายดาวเทียมของสหรัฐ มีความยืดหยุ่นต่อการโจมตี

ดาวเทียมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อระบบการสื่อสารของกองทัพ รวมทั้งการชี้จุดพิกัดบนโลก และระบบจับเวลา ที่มีความจำเป็นในภาวะสงคราม

รัสเซียไม่ใช่ประเทศแรกของโลก ที่ทดสอบการยิงทำลายดาวเทียมในอวกาศ สหรัฐเป็นประเทศแรก ทดสอบเมื่อปี พ.ศ. 2502

เครดิตภาพ – ReviseSociology, Reuters, U.S. Army/Jason B. Cutshaw
เครดิตคลิป – ZyS News