เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งในรูปแบบการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยน (Vaccine Swap) และการรับความช่วยเหลือ โดยทางกระทรวงฯ ได้ติดต่อเพื่อจัดซื้อจากแหล่งต่างๆ อาทิ จากประเทศจีน (วัคซีนซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม, แคนซิโน) จากสหรัฐอเมริกา (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โนวาแวกซ์) จากรัสเซีย (สปุตนิก วี) จากฝรั่งเศส (ซาโนฟี) และจากอินเดีย (โควิชิลด์ และโควาซิน) ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 กระทรวงการต่างประเทศได้เจรจาเรื่องความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนหรือหยิบยืมวัคซีนกันใช้ก่อน ซึ่งวิธีนี้มีการใช้ในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐ เชื่อว่าอาจมีวัคซีนจำนวนเพียงพอในการแลกเปลี่ยนกันได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป
นายธานี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของสหรัฐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ได้หารือผลักดันการจัดหาวัคซีนจากสหรัฐ มาตลอดตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 โดยได้หารือกับผู้ช่วยของประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อขอให้สหรัฐพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับไทย อีกทั้ง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 นายดอนได้หยิบยกเรื่องขอรับการจัดสรรวัคซีนอย่างเร่งด่วนสำหรับไทย ในการหารือกับนางเวนดี้ เชอร์แมน รมช.ต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ กระทั่งวันที่ 3 มิ.ย.2564 รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศมอบความช่วยเหลือวัคซีนของสหรัฐ รวม 80 ล้านโด๊ส ให้ประเทศต่างๆ ที่รวมถึงไทย ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานของสหรัฐ และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมในการขนส่งและรับมอบวัคซีน รวมทั้งแผนบริหารจัดการและจัดสรรวัคซีนดังกล่าวในประเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนโครงการแบ่งปันวัคซีนภายใต้กลไก “โคแวกซ์ (COVAX)” ขององค์การอนามัยโลก แม้ไทยไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก แต่ได้ร่วมบริจาคเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกลไกนี้เป็นเงินจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองในอนาคตข้างหน้า ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ไทยประกาศไว้ว่าวัคซีนคือสินค้าสาธารณะของโลกที่ประเทศต่างๆ ควรเข้าถึงได้ทั่วกัน.