นางเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เส้นทางสู่การฟื้นตัว โดยได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัว 2.2% ปรับลดลงจากเดิมที่คาด 3.4% จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง มีผลต่อไปยังการจ้างงาน รายได้และความยากจน รวมถึงแรงงานนอกระบบ ซึ่งอนาคตดูซึมลงเพราะโควิดกระทบบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดต่ำมากในปี 64 แค่ 6 แสนคน จากเดิมคาด 4-5 ล้านคน และจากก่อนโควิดมีมากถึง 40 ล้านคน ก่อนเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 65 ที่ 5.1%

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้และความยากจนแต่การรับมือด้วยมาตรการทางสังคมของรัฐบาล เป็นที่น่าพอใจในการบรรเทาผลกระทบ โดยเชื่อว่าพื้นที่การคลังของไทยยังมีเพียงพอสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ที่ลำบากมากที่สุดในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า”

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทยของธนาคารโลก กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดจนถึงปี 65 ที่จะขยายตัว 5.1% โดยความเสี่ยงในปีนี้มีค่อนข้างมาก เนื่องจากการฟื้นตัวอาจต้องล่าช้าออกไปเพราะมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การรักษาและวัคซีนที่มีอยู่ไม่เป็นผล แต่หากการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 10 จังหวัด กินเวลายาวนานเกินไตรมาส 3 หรือการระบาดขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 1.2% และปี 65 ขยายตัว 2.1%

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว จากการส่งออกและมาตรการคลัง ซึ่งไทยยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะทำนโยบายเยียวยาเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดยติดตามปัจจัยทั้งการระบาดโควิดรอบใหม่ การจัดซื้อจัดจ้าง และการกระจายวัคซีน รวมทั้งการกลับคืนมาของการท่องเที่ยว และการเยียวยาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ

นางฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า ไทยดำเนินการค่อนข้างดีในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง จากรัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนจากเดิมที่อยู่ในระดับไม่มากนักมาเป็นชุดของมาตรการให้เงินเยียวยาสูงต้นๆ ของโลกเพื่อการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งคาดว่าหากรัฐบาลไม่เพิ่มความช่วยเหลือจะทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้นจาก 7.8 แสนคนในปี 63

อย่างไรก็ตามหนี้ครัวเรือนสูงยังน่าเป็นห่วง เพราะมาจากรายได้ครัวเรือนลดหายไปและจากจีดีพีหดตัวจากโควิด ทำให้ภาระหนี้ต่อรายจ่ายต่อสินทรัพย์สูงโดยเฉพาะคนรายได้น้อยที่ต้องมาตกงาน ทำให้นโยบายช่วยเหลือคืนมาตรการเยียวยาประคับประคองรายได้ครัวเรือน สนับสนุนคนตกงานให้มีทักษะกลับมาเข้าระบบแรงงานอีกครั้ง ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน