สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองนูเมอา ดินแดนนิวแคลิโดเนีย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ว่าผลอย่างเป็นทางการของการลงประชามติในนิวแคลิโดเนีย ดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันอาทิตย์ ปรากฏว่า 96.49% ต้องการเป็นดินแดนอยู่ภายใต้อธิปไตยของฝรั่งเศสต่อไป อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์อยู่ที่เพียง 41.6% เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนการเป็นเอกราชร่วมกันบอยคอตการลงประชามติครั้งนี้
ปัจจุบัน นิวแคลิโดเนียมีประชากรเกือบ 295,000 คน จัดการลงประชามติเรื่องนี้มาแล้วสองครั้ง เมื่อปี 2561 และ 2563 ส่วนการลงประชามติครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้าย ตามเงื่อนไขของ “ข้อตกลงนูเมอา” เมื่อปี 2541 ว่าด้วยการกระจายอำนาจ และการจัดลงประชามติ ซึ่งเป็นผลจากความเห็นชอบร่วมกัน ระหว่างชาวพื้นเมืองคานัคซึ่งต้องการเอกราช กับชาวผิวขาวซึ่งยังคงต้องการอยู่กับฝรั่งเศส โดยทั้งสองฝ่ายสู้รบกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 ราย
การที่นิวแคลิโดเนียจะเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของฝรั่งเศสต่อไป ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองและการทูตที่สำคัญมากสำหรับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งกำลังผลักดันนโยบายอินโด-แปซิฟิก ทั้งนี้ รัฐบาลกลางในกรุงปารีสซึ่งปกครองดินแดนนิวแคลิโดเนีย ตั้งแต่ปี 2396 จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับรัฐบาลนูเมอาปีละ 1,500 ล้านยูโรในปัจจุบัน ( ราว 57,054.66 ล้านบาท ) คิดเป็นมากกว่า 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของนิวแคลิโดเนีย และกองทัพฝรั่งเศสยังตั้งฐานทัพที่นี่ด้วย
ขณะเดียวกัน สหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและจีน จับตาการลงประชามติครั้งสุดท้ายในหัวข้อนี้ของนิวแคลิโดเนียอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ท่ามกลางความพยายามของนานาชาติ ในการสิ้นสุดยุคอาณานิคมอย่างถาวร และการขับเคี่ยวช่วงชิงอิทธิพลของสหรัฐและจีน ในภูมิภาคแห่งนี้.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AP