การที่สหรัฐประกาศอย่างเป็นทางการในที่สุด ว่าจะเป็นผู้นำการใช้มาตรการ “บอยคอตทางการทูต” ต่อจีน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ในเดือน ก.พ. 2565 ถือเป็นการดับฝันโดยปริยาย ให้กับความพยายามครั้งสุดท้ายก่อนหมดวาระผู้นำเกาหลีใต้ในเดือน มี.ค.ปีเดียวกัน ของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ในการประกาศการยุติสงครามเกาหลี ระหว่างปี 2493-2496 “อย่างเป็นทางการ”

ขณะที่ นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึง “มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยว” ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ว่าอาจมีผลต่อการที่นครอสแอนเจลิสจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ในปี 2571 หรือไม่ แต่รัฐบาลปักกิ่งยังคงปฏิเสธขยายความ โดยนายจ้าวกล่าวเพียงว่า “กลอุบาย” เพื่อมุ่งทำลายโอลิมปิกครั้งนี้ “มีแต่จะล้มเหลวเท่านั้น” รัฐบาลวอชิงตันควรยุติ “การเชื่อมโยงกีฬากับการเมือง” ซึ่งเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของกฎบัตรโอลิมปิก

ต่อมา นายหวัง เหวินปิน โฆษกอีกคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน ชื่นชม “การแสดงความสนับสนุน” ของเกาหลีใต้ ที่มีต่อการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ว่ารัฐบาลปักกิ่งมีความยินดีต่อท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลโซล ที่บ่งชี้ความสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ ในบริบทของการแข่งขันโอลิมปิก และยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงร่วมมือเกื้อกูลอย่างเป็นมิตร ระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับจิตวิญญาณของโอลิมปิกด้วย

ทั้งนี้ นายชเว ยอง-ซัม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า รัฐบาลโซลของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน มีความหวังว่า มหกรรมกีฬาระดับโลกซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.นี้ จะประสบความสำเร็จ และสอดคล้องกับกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาค ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลี แต่ยังไม่ได้กล่าวถึง “การบอยคอตทางการทูต” ตามสหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งจะยังคงส่งนักกีฬาไปร่วมการแข่งขัน แต่จะไม่มีผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลเข้าร่วมงานด้านพิธีการ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังทำให้เกาหลีใต้ตกที่นั่งลำบาก แต่การมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว ในปี 2567 ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบัน ซึ่งเหลือเวลาบริหารอีกประมาณ 5 เดือน น่าจะส่งผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน แต่หากมีประเทศใดประกาศเดินตามรอยสหรัฐมากกว่านี้อีก หนทางแก้ปัญหาของรัฐบาลโซลในเรื่องนี้ น่าจะเป็นการลดความอาวุโสและจำนวนเจ้าหน้าที่ซึ่งจะเข้าร่วมงานด้านพิธีการ เนื่องจากไม่ว่าอย่างไร นโยบายการทูตบนคาบสมุทรเกาหลี “ต้องมีจีน”

การที่กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวต่อจากเมืองพย็องซังของเกาหลีใต้ เมื่อปี 2561 ทำให้หลายฝ่ายนำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับกระบวนการสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ให้ต่อเนื่องจากการที่เกาหลีเหนือเข้าร่วมการแข่งขันที่เมืองพย็องซัง แต่การที่เกาหลีเหนือไม่เข้าร่วมโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงโตเกียว ทำให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ( ไอโอซี ) ลงโทษรัฐบาลเปียงยาง ด้วยการไม่อนุญาตให้เข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง กระนั้น “ยังคงมีความหวัง” ว่าไอโอซีจะเปลี่ยนใจ ให้นักกีฬาเกาหลีเหนือบางส่วนเข้าร่วมการแข่งขัน

โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้กลายเป็นแนวรบล่าสุดของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ไม่เพียงแต่เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความลำบากใจ อีกหลายประเทศแม้ยังไม่ได้มีท่าทีอย่างเป็นทางการ แต่แน่นอนว่าต่างกำลังชั่งใจอย่างหนักไม่ต่างกัน ว่าจะวางตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่ในภาวะ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ให้ได้มากที่สุด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP