การที่นิการากัวยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน แล้วกลับไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือเพียง 14 ประเทศเท่านั้น ซึ่งยังคงให้การยอมรับ และมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลไทเป ได้แก่ กัวเตมาลา นครรัฐวาติกัน ฮอนดูรัส เฮติ ปารากวัย เอสวาตินี ตูวาลู นาอูรู เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เบลีซ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และปาเลา

ทั้งนี้ นิการากัวเคยยุติความสัมพันธ์กับไต้หวันมาแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน เมื่อปี 2528 ก่อนกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทเปอีกครั้ง เมื่อปี 2533 การที่ประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันเอาไว้ หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 สร้างความประหลาดใจอย่างมากให้กับหลายฝ่าย เนื่องจากหลังขึ้นสู่อำนาจสูงสุดทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2522 ออร์เตกาแสดงจุดยืนชัดเจนว่านิยมรัฐบาลปักกิ่ง แต่รัฐบาลชุดหลังจากนั้น เลือกการสถาปนาความสัมพันธ์กับไต้หวัน

New China TV

แม้ออร์เตกายังคงไม่ได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจน เกี่ยวกับการตัดสินใจสะบั้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทเปในที่สุด อย่างไรก็ดี การดำเนินการของรัฐบาลนิการากัวชุดปัจจุบันสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปานามาหรือคอสตาริกา ซึ่งการเปลี่ยนท่าทีของทั้งสองประเทศสร้างความกังวล ให้กับทั้งสหรัฐและไต้หวัน ว่าจะนำไปสู่การเกิด “ผลกระทบแบบโดมิโน”

ในขณะที่ไต้หวันพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่เหลืออยู่ไว้ให้ได้มากและนานที่สุด แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งแน่นอนว่า อยู่เหนือกว่าไต้หวันในทุกด้าน ถือเป็นหนึ่งในใบเบิกทางสำคัญ ช่วยให้จีนสามารถเจาะเข้าสู่ประเทศเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

New China TV

อย่างไรก็ดี การแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างจีนกับไต้หวัน เกิดขึ้นนับตั้งแต่วินาทีแรก เมื่อกองกำลังของจอมพลเจียง ไค-เช็ก เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง เมื่อปี 2492 เกาหลีเหนือ สหภาพโซเวียต และอีกหลายประเทศในภูมิภาค พร้อมใจประกาศให้การยอมรับรัฐบาลปักกิ่ง แต่สหรัฐและพันธมิตรอีกหลายประเทศยังคงให้การยอมรับรัฐบาลไทเป แต่การที่จีนสามารถสร้างภาพลักษณ์ อำนาจ และอิทธิพล ได้อย่างสม่ำเสมอกว่าไต้หวัน ทำให้รัฐบาลไทเปสูญเสียความสนับสนุนจากประเทศขนาดใหญ่ ที่รวมถึงสหราชอารณาจักรและฝรั่งเศส

จนกระทั่งความเปลี่ยนแปลงที่ถือเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” นั่นคือ การที่สหรัฐประกาศยอมรับหลักการ “จีนเดียว” และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลปักกิ่ง และยุติสนธิสัญญาด้านกลาโหมกับไต้หวัน เมื่อปี 2522 แต่สหรัฐและไต้หวันยังสามารถหาหนทาง เลี่ยงไปสถาปนาความสัมพันธ์กันอย่างไม่เป็นทางการในแบบอื่นแทน และเรื่องนี้ยังคงสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับจีนจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์นับจากนี้ยังคงต้องจับตากันไปอีกสักระยะ ว่าสหรัฐจะยกระดับมาตรการกดดันนิการากัวในแบบใดอีก และในกลุ่ม 14 ประเทศที่เหลือ ประเทศใดจะเป็นรายต่อไปที่จะยุติความสัมพันธ์กับไต้หวัน สมรภูมิทางการทูตที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา อยู่หลังฉากหน้าที่ดูแล้ว อาจไม่มีอะไรนอกเหนือไปจาก “สงครามจิตวิทยาทางทหาร” ข้ามช่องแคบ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP