สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ว่านายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการที่รัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพการทหารแห่งนี้ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างนาโตกับยูเครนขึ้นอยู่กับสมาชิกนาโตทั้ง 30 ประเทศ และรัฐบาลเคียฟ อนาคตของเรื่องนี้ “ไม่เกี่ยวกับคนอื่น”


ถ้อยแถลงของสโตลเทนเบิร์ก เป็การตอบเนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับล่าสุด ของกระทรวงการต่างประเทศในกรุงมอสโก ว่านอกจาก “หลักประกันอย่างเป็นทางการ” จากนาโต ในการไม่ติดตั้ง “ระบบอาวุธโจมตีนำวิถี” ทั้งในยูเครนและประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รายล้อมรัสเซีย ซึ่งล้วนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแล้ว รัฐบาลมอสโกยังต้องการให้นาโตยกเลิกข้อตกลงฉบับปี 2551 กับจอร์เจียและยูเครน ที่เป็นการ “ให้คำมั่นสัญญา” ว่าทั้งสองประเทศจะได้รับการยอมรับเข้าสู่นาโต “สักวันหนึ่ง”


ขณะที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี กล่าวระหว่างการเยือนสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู) ในกรุงบรัสเซลส์ และการเข้าพบหารือกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส เสนอฟื้นการพบหารือของกลุ่ม “นอร์มังดี โฟร์” ที่ประกอบด้วย เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และยูเครน ซึ่งพบหารือกันครั้งล่าสุด เมื่อเดือน ธ.ค. 2562


ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวหลังการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เป็นเวลานานประมาณครึ่งชั่วโมง ว่านอกเหนือจากการให้คำมั่นของรัฐบาลวอชิงตันในด้านความมั่นคงแล้ว แผนการจัดลงประชามติให้กับภูมิภาคดอนบาสส์และไครเมีย เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตัดสินอนาคตของตัวเอง ยังคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลพิจารณาอยู่ตลอด แต่ยังปฏิเสธขยายความ

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน


จนถึงตอนนี้ รัสเซียยังไม่มีท่าทีอย่างเป็นทางการเพิ่มเติม ต่อคำกล่าวของสโตลเทนเบิร์ก แต่นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.การต่างประเทศรัสเซีย เคยกล่าวว่า “หากไม่ได้รับการตอบสนองเชิงบวก” จากนาโต รัฐบาลมอสโกจะเดินหน้านโยบายที่เกี่ยวข้องตามแนวทางของตัวเองต่อไป.

เครดิตภาพ : AP