สืบเนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ใหญ่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ล่าสุดยังอยู่ในขั้นตอนการขนย้ายสารเคมีจำนวนมากออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันมีหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลโดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานในจุดเกิดเหตุ รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
ผศ.นพ.วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ข้อแนะนำถึงการดูแลในส่วนดังกล่าวว่า เนื่องจากสารเคมีที่เกิดระเบิดขึ้นเป็นสารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งมีความเป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เช่น ตา จมูก ปาก ทางเดินอาหาร และปอด หากสูดดมในระยะยาวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งได้ และผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดผลต่อระบบประสาท ทำให้มึนงงและเดินเซ
ขณะที่ลักษณะควันดำที่เห็นนอกจากมีสไตรีนโมโนเมอร์แล้วควันที่เผาไหม้ยังประกอบไปด้วยสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์สามารถทำให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ไปแย่งจับออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงจนเกิดภาวะร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ ส่วนสารพิษอื่นที่อาจพบได้ในการเผาไหม้อาคารได้แก่ สารไซยาไนด์ เนื่องจากควันพิษที่กล่าวถึงลอยขึ้นไปบนอากาศและถูกลมพัดไปเป็นบริเวณกว้าง บริเวณที่ได้รับผลกระทบจะเป็นโซนด้านตะวันออกและทิศเหนือสมุทรปราการ
ผศ.นพ.วิสุทธิ์ เผยข้อแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพของเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงงานที่เกิดเหตุช่วงแรกต้องพยายามลดการสัมผัสกับสารเคมีให้มากที่สุด หากต้องปฏิบัติงานในบริเวณที่ใกล้โรงงานอาจพิจารณาใส่ชุดป้องกันควันพิษและสารเคมี และเมื่อกลับถึงบ้านควรรีบเปลี่ยนชุด อาบน้ำชำระล้างร่างกาย ก่อนไปทำภารกิจอื่น เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวอยู่ในรูปของเหลวที่เบากว่าน้ำ และอาจอยู่ในรูปของแก๊สซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ดังนั้น หลังเกิดการรั่วไหลและระเบิดก็อาจจะมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและกระจายอยู่ตามแหล่งน้ำได้ ดังนั้น แนะนำว่าควรจะอยู่ในบ้าน ลดการสัมผัสอากาศที่ปนเปื้อนให้มากที่สุด
สำหรับอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หากสัมผัส หรือสูดดมสารเคมี หากมีการระคายเคืองในส่วนต่างๆ เช่น ตา จมูก อาจจะใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดชำระสารเคมีออก แต่หากมีอาการหายใจลำบาก หมดสติ หรือเดินเซ ควรไปพบแพทย์โดยจุดสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องเฝ้าระวัง ผลในระยะสั้นของการสัมผัสสารเคมีคือการระคายเคือง หากอยู่ในบริเวณรัศมีที่ใกล้โรงงานมาก เช่น 5 กิโลเมตร แล้วมีอาการตามที่ระบุไว้ควรไปพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม นอกเหนืออาการที่อาจเกิดขึ้นทันที ยังมีอาการใดที่ต้องระวังผลพวงภายหลังบ้าง ผศ.นพ.วิสุทธิ์ ย้ำว่าการสัมผัสสารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นระยะเวลานานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงกับการเกิดมะเร็งได้ จึงควรลดการสัมผัสสารดังกล่าวโดยตรง เนื่องจากสารสไตรีนโมโนเมอร์จะมีกลิ่นหวานเฉพาะตัว หากอยู่ในบริเวณที่ใกล้โรงงานและได้กลิ่นดังกล่าวควรอพยพออกจากบริเวณเป็นการชั่วคราว.